สื่อมัลติมีเดีย

กลายเป็น-มลายู: บทสำรวจอัตลักษณ์ในรัฐไทยและการค้นหาความหมายแห่งตัวตน

โดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ

เผยแพร่เมื่อ 8 พฤษภาคม 2024

สังคมวิทยา-มานุษยวิทยา, ชาติพันธุ์นิพนธ์

บทสำรวจอัตลักษณ์ในรัฐไทยและการค้นหาความหมายแห่งตัวตน วางอยู่บนพื้นฐานของการทำความเข้าใจและข้อถกเถียงว่าด้วยความเป็นมลายูในรัฐไทย  ผู้บรรยายจะนำเสนอการทำงานผ่านตัวกลางการรับรู้เชิงชาติพันธุ์นิพนธ์ (ethnographic sensorium)  หรือความพยายามเข้าใจโลกถูกอำพรางด้วยมายาคติทางเชื้อชาติและศาสนา ที่มิอาจจัดประเภทได้ตามกรอบคิดทฤษฎี

การบรรยายมุ่งไปที่การถ่ายทอดความเคลื่อนไหวของคนมลายูที่สัมพันธ์กับอุดมการณ์ชาตินิยมไทยและโลกมลายู  ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าทั้งสองสิ่งนี้ดำรงอยู่ร่วมกัน แลกเปลี่ยน ขัดแย้ง เคลื่อนไหว และส่องสะท้อนซึ่งกันและกัน  ผู้ฟังจะสามารถค้นพบข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์มากมายที่ถูกสานเกลียวด้วยเรื่องเล่า, ความเชื่อ, พิธีกรรม ตลอดจนจินตนาการและความรู้สึกที่คนมลายูมีต่อโลก  บางเรื่อง เกินกว่าจะเชื่อถือได้หากดำเนินตามครรลองของหลักการและระบอบของเหตุผลจากมุมมองแบบนักประจักษ์นิยม

กลายเป็น-มลายู ฯ วางอยู่บนสมมติฐานที่ว่าพรมแดนและความหมายของความเป็นมนุษย์เต็มไปด้วยการรั่วไหลและความสามารถในการก่อรูปตัวตนที่แตกต่างกันภายใต้เงื่อนไขของโครงสร้างทางการเมือง  การกลายเป็น-มลายู ฯ ในลักษณะนี้คือการก้าวไปสู่ความเป็นสิ่งอื่นที่นอกเหนือจากจินตนาการของความเป็น “มนุษย์มลายู” และ “มนุษย์ไทย” ที่เคยถูกห่อหุ้มอย่างปลอดภัย  ทั้งยังเป็นการตั้งคำถามและข้อถกเถียงระหว่างรุ่น, เพศสภาพ, ชนชั้น, และระดับความภักดีต่อรัฐ ซึ่งมีผลต่อความเชื่อในโลกที่แตกต่างกันออกไป แม้จะอยู่ในสังคมเดียวกัน

สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์