งานวิจัยและบทความ
ก่อนสมัยพระนคร: ชุมชนโบราณในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
โดย Susan Talbot
เผยแพร่เมื่อ 12 พฤษภาคม 2024
โบราณคดี, จารึกและเอกสารโบราณ
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ
วารสารสยามสมาคม Vol. 91 (2003)
ดาวน์โหลด
บทความนี้จะนำเสนอภาพรวมของหลักฐานจารึกและหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับชุมชนโบราณต้นยุคประวัติศาสตร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยก่อนปี ค.ศ. 802 (พ.ศ. 1345) ซึ่งเป็นปีที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเป็นจุดเริ่มต้นของอาณาจักรพระนคร ยุคประวัติศาสตร์ตอนต้น (ราว ค.ศ. 500-800 หรือราว พ.ศ. 1043-1343) เป็นยุคที่สืบเนื่องมาจากยุคเหล็กก่อนรู้จักตัวอักษร (ราว 500 ปีก่อนคริสตกาล - ค.ศ. 500 หรือราว พ.ศ. 43-1043) โดยมักมีการกล่าวถึงยุคนี้ในแง่ของอิทธิพลจากสองขั้วอำนาจ ได้แก่ รัฐเจนละของชาวเขมรที่นับถือศาสนาฮินดูทางตอนใต้ และรัฐทวารวดีของชาวมอญที่นับถือพุทธศาสนาทางตะวันตก ซึ่งดูเหมือนจะเป็นอิสระจากกัน (Quaritch Wales 1969; วัลลิโภดม 1976; Groslier 1980; Jacques 1989; Brown 1996, 39) อย่างไรก็ดี การใช้คำเรียกเหล่านี้กำลังเป็นปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ และการจำแนกความแตกต่างทางวัฒนธรรมและการเมืองระหว่างมอญกับเขมรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลจนกระทั่งถึงราว ค.ศ. 1000 (พ.ศ. 1543) (Keyes 1974, 504; Siribhadra et al. 1997, 25) แม้ว่าชุมชนต้นยุคประวัติศาสตร์ของภาคอีสานยังคงเป็นที่รู้จักและเข้าใจน้อย แต่มีหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ว่าชุมชนเหล่านี้มีลักษณะเฉพาะร่วมกันในระดับภูมิภาค มีการใช้องค์ประกอบศิลปะที่ปรากฏในศิลปะแบบเขมรและทวารวดี แต่ขณะเดียวกันก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งยังคงเห็นได้จากร่องรอยทางจารึกและโบราณคดีที่หลงเหลืออยู่