งานวิจัยและบทความ

รัฐและประชากรล้านนาก่อนกลางคริสต์ศตวรรษที่สิบหก
โดย Volker Grabowsky
เผยแพร่เมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2024
ประวัติศาสตร์
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ
วารสารสยามสมาคม Vol. 93 (2005)
ดาวน์โหลด
Population and state in Lan Na prior to the mid-sixteenth century
บทความเรื่องการปกครองและสังคมล้านนา ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 นับจากพญามังรายพระมหากษัตริย์แห่งพิรัญนครเงินยางเชียงลาว (เชียงแสน) สถาปนาอาณาจักรนี้ขึ้นโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เชียงใหม่ ค.ศ. 1292 จนถึงเหตุแห่งการล่มสลายของอาณาจักรล้านนาและการเสียเมืองให้พระเจ้าบุเรงนอง ค.ศ.1558 โดยศึกษาจำนวนประชากรของเมืองและชุมชนต่างๆ เช่น ไทยวน ไทลื้อ ไทเขิน ที่รวมกันเป็นอาณาจักรล้านนา การศึกษาพบว่าอาณาจักรล้านนามีลักษณะเป็นสหพันธรัฐของเมือง แผ่อิทธิพลจากเมืองยาง เมืองเชียงตุง และเมืองเชียงแสนทางเหนือ ลงมาถึงเมืองแพร่ เมืองลคอร(ลำปาง)ทางใต้ มีพื้นที่เป็นภูเขาถึงสี่ในห้าส่วน โดยหลักล้านนาเป็นการรวมตัวของเมืองกสิกรรมในที่ราบเชียงราย/เชียงแสนทางเหนือ กับที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงทางตอนใต้ ระบบจัดการกำลังไพร่พลพบใช้ระบบ “นายสิบ หรือ หัวสิบ” (ไพร่ทุก 10 คนมีนายสิบเป็นหัวหน้า) คล้ายกับเมืองไทใหญ่เช่นในกรณีของเมืองมาวเรียก“นายสิบ” ว่าเจ้าจุน นักวิชาการบางท่านเชื่อว่าไทลื้อในสิบสองปันนารับมาจากระบบจีนสมัยราชวงศ์ซ่ง การจัดการพิ้นที่กสิกรรมใช้ระบบ “พันนา” ที่ปรากฏหลักฐานที่เชียงแสน เชียงรายและพะเยา
แม้ในสมัยพระเจ้าติโลกราช (ค.ศ.1441-1487) จะมีความพยายามรวมอำนาจมาที่ราชธานี ณ เมืองเชียงใหม่ แต่ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์เมืองส่วนใหญ่ของล้านนายังคงอำนาจปกครองตนเอง ต่างจากกรุงศรีอยุธยาและกรุงอังวะ ที่อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่ราชธานี ความแตกแยกของฝ่ายปกครองแยกเป็นก๊กก๊วนหลังพญาเมืองแก้ว (ค.ศ.1495-1525)สวรรคต ต่อมา เจ้าเมืองต่างๆแตกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายตะวันตกนำโดยเชียงใหม่ ลำพูน เชียงตุง ส่วนเจ้าเมืองฝ่ายตะวันออกนำโดยเจ้าเมืองเชียงราย เชียงแสน และลำปาง อาจกล่าวได้ว่าการล่มสลายของอาณาจักรล้านนามีผลมาจากระบบการปกครอง เศรษฐกิจ และการแตกแยกของพลเมือง ก่อนที่พม่าจะเข้ามายึดครอง