งานวิจัยและบทความ

โครงการอนุรักษ์ทางโบราณคดี: ผลการสำรวจภาคสนามรอบแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

โดย Chester F. Gorman, Wilhelm G. Solheim II

เผยแพร่เมื่อ 31 พฤษภาคม 2024

โบราณคดี
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ

วารสารสยามสมาคม Vol. 54.2 (1966)

ดาวน์โหลด

Archaeological Salvage Program; Northeastern Thailand-First Season


บทความนี้นำเสนอผลการศึกษาทางโบราณคดีที่ดำเนินการโดยคณะสำรวจจากภาควิชาวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยฮาวาย (University of Hawaii Fine Arts Department Expedition) ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (United States of America National Science Foundation)  โดยการสำรวจภาคสนามได้ดำเนินการขึ้นในจังหวัดต่างๆ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ระหว่างปี ค.ศ. 1963-1964 (พ.ศ. 2506-2507)  โครงการอนุรักษ์ทางโบราณคดีนี้ดำเนินการก่อนการก่อสร้างเขื่อนทั้ง 5 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้มี 2 แห่งที่เชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ส่วนอีก 3 แห่งอยู่ภายใต้การดูแลของกรมชลประทานของไทย การสำรวจครั้งนี้พบแหล่งโบราณคดีรวมทั้งสิ้น 21 แห่ง กระจายอยู่ในพื้นที่เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำปาว และเขื่อนน้ำพอง ทั้งนี้ จากการสังเกตร่องรอยบนผิวดิน ผลการสำรวจเบื้องต้นระบุว่าแหล่งโบราณคดีทั้งหมดมีอายุอยู่ในสมัยประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ดี ยังพบว่ามีแหล่งที่อาจมีอายุในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ด้วย โดยพบ 2 แห่งในพื้นที่เขื่อนลำพระเพลิง และอีก 2-4 แห่งในพื้นที่เขื่อนน้ำพอง นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ว่าแหล่งโบราณคดีบางแห่งในพื้นที่เขื่อนลำปาวก็อาจมีจุดกำเนิดมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เช่นกัน  บทความนี้ได้บันทึกและวิเคราะห์โบราณวัตถุที่ค้นพบในแต่ละแหล่งอย่างละเอียด ซึ่งพบว่าโบราณวัตถุส่วนใหญ่เป็นเครื่องปั้นดินเผาโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทเนื้อดิน อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจครั้งนี้ไม่พบร่องรอยของแหล่งโบราณคดีในพื้นที่เขื่อนน้ำพุง และเนื่องจากยังไม่ได้ดำเนินการสำรวจในพื้นที่เขื่อนน้ำอูนก่อนบทความนี้จะถูกตีพิมพ์เผยแพร่ จึงมิได้มีการกล่าวถึงทั้งสองพื้นที่นี้ในบทความ แม้ผลการศึกษาที่ได้ยังไม่สามารถนำไปสู่ข้อสรุปที่แน่ชัด เนื่องจากแหล่งโบราณคดีที่ค้นพบยังไม่ได้รับการขุดค้นเชิงลึกในช่วงก่อนการตีพิมพ์ แต่บทความได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่าบริเวณนี้น่าจะเคยเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของประชากรในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่กระจายตัวอยู่โดยทั่วไปเป็นระยะเวลายาวนาน นอกจากนี้ ยังพบว่าแหล่งโบราณคดี 2 แห่งในพื้นที่เขื่อนลำพระเพลิงมีความเกี่ยวเนื่องกับแหล่งยุคหินใหม่และยุคเหล็กตอนต้นในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งชี้ให้เห็นว่าหากมีการศึกษาขุดค้นเพิ่มเติมก็อาจจะสามารถสร้างความกระจ่างเกี่ยวกับการแพร่กระจายของวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ต่อไป