งานวิจัยและบทความ

ความพอเพียง: ฐานคิดการรักษามรดกทางวัฒนธรรมในภาคอีสาน สู่การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน

โดย ณัฏฐินิ ทองดี

เผยแพร่เมื่อ 22 พฤษภาคม 2024

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม, การอนุรักษ์และสงวนรักษามรดกวัฒนธรรม
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ

วารสารวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย. 12, 1 (เม.ย. 2018), 35–58.


การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวทางเลือกที่มีรากฐานมาจากแนวคิดของการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและแนวคิดของสิทธิมนุษยชน โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบของนักท่องเที่ยวที่มีต่อการรักษามรดกทางภูมิปัญญาและมรดกทางธรรมชาติอันเป็นต้นทุนของการจัดการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวโดยชุมชนนี้ได้ถูกกล่าวถึงอย่างมากในประเทศไทยปัจจุบัน โดยพิจารณาได้จากนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวและแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชน พ.ศ. 2559-2563 ที่รัฐบาลนำมาเป็นแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยว ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานเป็นภูมิภาคที่มีความโดดเด่นในทรัพยากรที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ประกอบกับมีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยได้มีการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนขึ้นจำนวนหลายชุมชนในหลายจังหวัด และได้นำมรดกทางวัฒนธรรมมาเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว ดังนั้นในการจะสร้างความยั่งยืนให้กับการท่องเที่ยวและการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของภาคอีสานไว้ให้คนรุ่นต่อไปได้นั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยแนวคิดสำคัญแห่งความพอเพียง การเดินทางสายกลางตามหลักพุทธศาสนาตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้ทรงมอบไว้เป็นหลักคิดกับประชาชนชาวไทย