งานวิจัยและบทความ
![](/knowledge-hub/images/solid-500.png)
ศึกษาวิเคราะห์อัตลักษณ์แห่งมรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในล้านนา
โดย ปาณิสรา เทพรักษ์, พระครูสิริธรรมบัณฑิต, พระมหากีรติ ฉัตรแก้ว, สมจันทร์ ศรีปรัชยานนท์, สหัทยา วิเศษ
เผยแพร่เมื่อ 22 พฤษภาคม 2024
ภูมิปัญญาท้องถิ่น
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาความเป็นมาและพัฒนาการทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 2) เพื่อวิเคราะห์อัตลักษณ์แห่งมรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในล้านนา เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้เครื่องมือการวิจัย ได้แก่ การศึกษาเชิงเอกสารและการศึกษาภาคสนามด้วยการสังเกตการณ์และการสัมภาษณ์เชิงลึก ผู้ให้ข้อมูลสำคัญมี 14 รูป/คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการจับประเด็นเนื้อหาทางด้านประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมในล้านนาจากเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์อัตลักษณ์แห่งมรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในล้านนา
ผลการวิจัย พบว่า 1) ความเป็นมาทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเกิดจากปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์ที่กำหนดวิถีชีวิตของสังคมด้วยสภาพทางภูมิประเทศ ชาติพันธุ์และวิถีชีวิตในการอยู่รอดในสังคม ขณะเดียวกันอัตลักษณ์แห่งมรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเป็นปัจจัยที่รับผลกระทบมากจาก (1) ความเชื่อที่เป็นหลักการปฏิบัติให้เกิดความผาสุก (2) ทุนทางสังคมอันเป็นสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนดั้งเดิม (3) การอนุรักษ์อันเป็นการรักษาความเป็นเอกลักษณ์แห่งภูมิปัญญาโดยการยึดหลักการ 2) ปัจจัยด้านอัตลักษณ์แห่งมรดกทางวัฒนธรรมในล้านนาเกิดจากปัจจัย 4 ด้าน ได้แก่ (1) ภูมิศาสตร์ ความเป็นอยู่และวิถีชีวิต (2) ความเชื่อ การปฏิบัติเพื่อให้เกิดความผาสุกตามกฎกติกาที่ยอมรับ (3) ทุนทางสังคม ลักษณะเฉพาะที่ดึงดูดความสนใจที่เกิดจากปัจจัยทางด้านทุนทางสังคมในพื้นที่ (4) การอนุรักษ์ การดูแลและรักษาเอกลักษณ์แห่งภูมิปัญญาในชุมชนล้านนาเพื่อให้เกิดคุณค่าในสังคมตลอดไป องค์ความรู้จากการวิจัย พบว่า ปัจจัยหลักที่มีผลต่ออัตลักษณ์แห่งมรดกทางวัฒนธรรมในล้านนา ได้แก่ 1) ปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์ที่เป็นสภาพแวดล้อม เผ่าพันธุ์และวิถีชีวิตในชุมชน 2) ปัจจัยทางด้านความเชื่อที่เป็นธรรมเนียมการปฏิบัติที่สร้างความงดงามในแบบแผนของสังคม 3) ทุนทางสังคมทั้งทางด้านทรัพยากรธรมชาติ ประวัติศาสตร์ ความงามด้านศิลปะ และ 4) การอนุรักษ์ เพื่อรักษาความงดงามให้คงอยู่ในชุมชนด้วยการปฏิบัติตามสิ่งที่บรรพชนได้สร้างสรรค์และการรักษาคุณค่าทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ด้วยการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้แก่อนุชนรุ่นต่อไป