งานวิจัยและบทความ
แนวทางการจัดทำกระบวนการบริหารจัดการเขตอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม (สถาปัตยกรรม) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองเก่าลำพูน แพร่ น่าน
โดย เทิดศักดิ์ เตชะกิจขจร, ปิยะธิดา สายขุน, เสฎฐวุฒิ บำรุงกุล
เผยแพร่เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2024
สถาปัตยกรรม, การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม, การอนุรักษ์และสงวนรักษามรดกวัฒนธรรม
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ
โครงการวิจัยเรื่องแนวทางการจัดทำโครงสร้างและกระบวนการบริหารจัดการเขตอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม (สถาปัตยกรรม) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองเก่าลำพูน แพร่ น่าน มีวัตถุประสงค์เพื่อ
1) เพื่อเสนอต้นแบบลักษณะโครงสร้างองค์กรที่ดำเนินงานบริหารจัดการเขตอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม (สถาปัตยกรรม)
2) เพื่อเสนอต้นแบบขั้นตอน และกระบวนการบริหารจัดการเขตอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม (สถาปัตยกรรม)
การศึกษาครั้งนี้ดำเนินการภายในพื้นที่เขตเมืองเก่าจังหวัดแพร่ น่าน และลำพูน โดยเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการที่มุ่งเน้นการพัฒนาต้นแบบด้วยการบูรณาการข้อมูลโครงสร้างและกระบวนการการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นชุมชนดั้งเดิม ร่วมกับการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนดั้งเดิมภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายในปัจจุบัน จากการศึกษาพบว่าในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายหรือข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำเขตอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม (สถาปัตยกรรม) ภายในเมืองเก่าหรือชุมชนดั้งเดิม โดยการบริหารจัดการส่วนใหญ่ต้องอาศัยกฎหมายหรือข้อกำหนดอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถบริหารงานได้อย่างชัดเจนและต่อเนื่องจึงมีความจำเป็นต้องจัดตั้งองค์กรส่วนกลางขึ้นเพื่อประสานงานระหว่างหน่วยงานและชุมชน โดยสามารถดำเนินการจัดตั้งองค์กรได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) การใช้องค์กรหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นเดิมที่มีอยู่แต่บูรณาการแผนการทำงานหรือเพิ่มกลุ่มการทำงานใหม่เข้าไป 2) การใช้องค์กรชุมชนประสานการทำงาน 3) การจัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่ในรูปแบบเอกชนที่มีการกำหนดวัตถุประสงค์เฉพาะด้าน องค์กรที่จัดทำควรประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และภาคประชาชน ขั้นตอนและกระบวนการบริหารจัดการเขตอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม (สถาปัตยกรรม) สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วนคือ 1) กระบวนการจัดทำเขตอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม (สถาปัตยกรรม) และ 2) กระบวนการบริหารจัดการการท่องเที่ยวภายในเขตอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม (สถาปัตยกรรม) อย่างไรก็ตาม หน่วยงานการปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนควรจัดตั้งองค์กรดังกล่าว และดำเนินกิจกรรมตามแนวทางฯ ตามศักยภาพและจุดแข็งของแต่ละจังหวัดที่มีความแตกต่างกัน