งานวิจัยและบทความ

บทบาทเยาวชนไทย-เวียดนามในการสงวนรักษาและส่งเสริม มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

โดย โงว บินห์ นัม เจียง, ดิเรก ทรงกัลยาณวัตร

เผยแพร่เมื่อ 22 พฤษภาคม 2024

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม, การอนุรักษ์และสงวนรักษามรดกวัฒนธรรม
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ

วารสารพัฒนศิลป์วิชาการ ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 (2019): มกราคม-มิถุนายน


บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทเยาวชนในการสงวนรักษาและการส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมสู่อนุชนรุ่นต่อไป เลือกศึกษาโขนของไทยกับเพลงซวนของเวียดนาม เพราะเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ยูเนสโกเคยมีความเห็นว่าเสี่ยงต่อการสูญหายแต่สามารถสงวนรักษาและส่งเสริมให้ฟื้นคืนสู่คนรุ่นต่อไปได้ บทความนี้ใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการศึกษาเอกสาร และการสัมภาษณ์เชิงลึกเยาวชนผู้สืบทอดองค์ความรู้การแสดงโขนของไทย เยาวชนผู้สืบทอดองค์ความรู้การแสดงเพลงซวนของเวียดนาม ศิลปินอาวุโสโขนของไทย และศิลปินอาวุโสเพลงซวนของเวียดนาม ผลการศึกษาพบว่า

1. เยาวชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมสำคัญในการจัดกิจกรรมสร้างพื้นที่และขยาย องค์ความรู้การสงวนรักษาและส่งเสริมเพื่อสืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ชุมชนเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจปัญหาและบทบาทในการสงวนรักษาและส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมยิ่งขึ้น

2. ภาครัฐและชุมชนของไทยและเวียดนามมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาแก่เยาวชนให้มีความรู้ ให้รู้คุณค่ามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ว่าเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าต่อมวลมนุษยชาติในโลก เมื่อเยาวชนของทั้งสองประเทศต่างรู้ซึ้งถึงคุณค่าและความดีงามของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พวกเขาเหล่านั้นจะเป็นกำลังสำคัญช่วยร่วมมือร่วมใจสงวนรักษาและส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติให้ยืนยงสืบไป