งานวิจัยและบทความ
พัฒนาการการให้คุณค่าและความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
โดย คัทลียา จิรประเสริฐกุล, พิชญ์ธิดา พิบูลย์
เผยแพร่เมื่อ 22 พฤษภาคม 2024
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ
ปัจจุบันการให้คุณค่าและความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมได้ขยายขอบเขตจากสิ่งที่จับต้องได้ไปยังสิ่งอื่น ๆ ที่จับต้องไม่ได้ด้วย ดังจะเห็นได้จากคำนิยามของมรดกทางวัฒนธรรมโดยองค์การยูเนสโก พ.ศ. 2546 ที่ได้ให้ความสำคัญกับ ‘การอยู่ร่วมกัน’ ของสิ่งที่จับต้องได้ อาทิ กลุ่มอาคาร โบราณสถาน โบราณวัตถุ แหล่งโบราณคดี กับสิ่งที่เป็นนามธรรม (จับต้องไม่ได้) ซึ่งแสดงถึงวิถีชีวิตผู้คนและวิวัฒนาการของชุมชน รวมเรียกว่า “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจต่อมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่เพิ่มเติมไปจากสิ่งที่จับต้องได้เพียงสิ่งเดียว โดยการทบทวนวรรณกรรมเชิงปริทัศน์ และได้นำเสนอสาระสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยง สะท้อนคุณค่าและความหมายระหว่างกันกับองค์ประกอบที่จับต้องได้อย่างที่แยกออกจากกันได้ยาก นอกจากนี้ยังทำการตีแผ่แนวคิด พัฒนาการการให้คุณค่าและความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ รวมทั้งอภิปรายเปรียบเทียบประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ทั้งในระดับสากลและในประเทศไทย
บทความนี้นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า 3 องค์ประกอบหลักที่เป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจหรือ “อ่าน” มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของเมือง อันประกอบด้วยนิยาม สิ่งที่แสดงให้รู้ และหลักการสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้นั้น เป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยต่อยอดองค์ความรู้ในการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองไว้ในทุก ๆ มิติ ความเข้าใจนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ชุมชนเมืองเก่า เมืองประวัติศาสตร์ ตลอดจนกระบวนการประเมินคุณค่าของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมหรือตัวเมือง และการผลักดันสู่การขึ้นทะเบียนมรดกโลกต่อไป