งานวิจัยและบทความ

เส้นทางสายบุญทางพระพุทธศาสนาของชาวสยามในประเทศมาเลเซีย : การวิเคราะห์มรดกร่วมทางวัฒนธรรมไทยและมาเลเซีย

โดย ชลลดา แสงมณี ศิริสาธิตกิจ, ทวนธง ครุฑจ้อน, พรไทย ศิริสาธิตกิจ

เผยแพร่เมื่อ 22 พฤษภาคม 2024

ศาสนาพุทธ, มรดกวัฒนธรรม
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ

วารสารอินทนิลทักษิณสาร มหาวิทยาลัยทักษิณ. 14, 1 (มิ.ย. 2019), 9–41.


การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอัตลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรมฐานพระพุทธศาสนา  รวมทั้งรูปแบบและแนวทางการสืบทอดอัตลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรมฐานพระพุทธศาสนาของชาวสยามในรัฐตอนเหนือประเทศมาเลเซีย  และเพื่อศึกษาบทบาทภาครัฐของประเทศมาเลเซียและประเทศไทยในการส่งเสริมอัตลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรมฐานพระพุทธศาสนาของชาวสยามในรัฐตอนเหนือประเทศมาเลเซีย ตลอดจนเพื่อศึกษาเส้นทางความสัมพันธ์เชิงอัตลักษณ์และมรดกร่วมทางวัฒนธรรมฐานพระพุทธศาสนาของชาวสยามในรัฐตอนเหนือประเทศมาเลเซีย รวมถึงชาวมาเลเซียเชื้อสายอื่นที่นับถือศาสนาพุทธ กับชาวไทยท้องถิ่นในภาคใต้ของประเทศไทย  ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ

ผลการศึกษาพบว่า  ชุมชนสยามในรัฐตอนเหนือประเทศมาเลเซียเป็นชุมชนที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากชุมชนอื่นๆ ของประเทศมาเลเซีย โดยชุมชนสยามมีอัตลักษณ์ด้านต่างๆ ที่สำคัญ  ได้แก่  ด้านอาหาร  ด้านการแต่งกาย  ด้านภาษา ด้านที่อยู่อาศัย ด้านประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อ และด้านศาสนา สำหรับมรดกทางวัฒนธรรมฐานพระพุทธศาสนาของชาวสยามในรัฐตอนเหนือประเทศมาเลเซียที่ยังคงความเป็นอัตลักษณ์โดดเด่น ได้แก่ การปิดทองฝังลูกนิมิต  การเวียนเทียนและการแห่เทียน การบวช การทำบุญตักบาตร ประเพณีทำบุญเดือน 10 ประเพณีลากพระ ประเพณีทอดผ้าป่าสามัคคี และประเพณีทอดกฐิน โดยมีรูปแบบการสืบทอดอัตลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรมฐานพระพุทธศาสนา  2  รูปแบบ ได้แก่  การสืบทอดทางตรง  และการสืบทอดทางอ้อม ส่วนบทบาทภาครัฐของประเทศมาเลเซียและประเทศไทยในการส่งเสริมอัตลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรมฐานพระพุทธศาสนาของชาวสยามในรัฐตอนเหนือประเทศมาเลเซียจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน แต่จะแตกต่างออกไปในรายละเอียด ได้แก่  การส่งเสริมด้านพระพุทธศาสนา  การส่งเสริมด้านประเพณีและวัฒนธรรม  และการส่งเสริมด้านการศึกษา

สำหรับเส้นทางความสัมพันธ์เชิงอัตลักษณ์และมรดกร่วมทางวัฒนธรรมฐานพระพุทธศาสนาของชาวสยามในรัฐตอนเหนือประเทศมาเลเซีย รวมถึงชาวมาเลเซียเชื้อสายอื่นที่นับถือศาสนาพุทธกับชาวไทยท้องถิ่นในภาคใต้ของประเทศไทย พบว่า มีด้วยกันหลายเส้นทาง โดยเงื่อนไขความสัมพันธ์ดังกล่าว  ได้แก่  การนับถือศาสนาเดียวกัน ประวัติศาสตร์ร่วม  ความคล้ายคลึงทางสังคมและวัฒนธรรม  เครือข่ายความสัมพันธ์  และการจัดกระบวนการเรียนรู้