งานวิจัยและบทความ

มาตรการทางกฎหมายในการส่งเสริม การอนุรักษ์ และการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม กรณีศึกษา การแสดงออกซึ่งศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน

โดย จิตรดารมย์ รัตนวุฒิ

เผยแพร่เมื่อ 22 พฤษภาคม 2024

นโยบายและกฎหมายอนุรักษ์, ศิลปะการแสดง, การอนุรักษ์และสงวนรักษามรดกวัฒนธรรม
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ

วารสารนิติศาสตร์และสังคมท้องถิ่น. 1, 1 (มิ.ย. 2017), 135–169.


มรดกทางวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ความเป็นชนชาติที่มีความผูกพันเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งปรากฏในรูปแบบต่างๆ ทั้งมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้และมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ โดยจำแนกออกได้เป็นหลากหลายรูปแบบ ทั้งศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น องค์ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ หรือภูมิปัญญาไทย การแสดงออกซึ่งศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านจึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชุมชนท้องถิ่นอันควรส่งเสริม อนุรักษ์ และคุ้มครองไว้เป็นมรดกตกทอดยังชนรุ่นหลังต่อไป

จากการรวบรวมข้อมูลเอกสารที่เป็นกฎหมาย ตำรา งานวิจัย วิทยานิพนธ์ วารสาร ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต เอกสารการประชุมอบรม รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริม การอนุรักษ์ และการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม โดยให้ความสำคัญกับการแสดงออกซึ่งศิลปธรรมวัฒนธรรมพื้นบ้านในเขตพื้นที่ภาคใต้ วิเคราะห์เพื่อหามาตรการทางกฎหมายในการส่งเสริม  การอนุรักษ์  และการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม  นอกจากนี้มีการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมประเภทหนังตะลุง ผู้สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมประเภทมโนราห์ รวมถึงประชาชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับมรดกทางวัฒนธรรมพื้นบ้าน เพื่อหาแนวทางการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนในการส่งเสริม การอนุรักษ์ และการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม

ผลการวิเคราะห์พบว่า มาตรการทางกฎหมายในการส่งเสริม การอนุรักษ์ และการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมสามารถดำเนินการได้หลากหลายรูปแบบทั้งที่เป็นรูปแบบโดยทั่วไปและรูปแบบที่มีสภาพบังคับเด็ดขาด แต่จากการศึกษามาตรการทางกฎหมายของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันพบว่ามีลักษณะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอันเป็นรูปแบบทั่วไป แต่ไม่ปรากฏมาตรการบังคับเด็ดขาดในการส่งเสริม อนุรักษ์ หรือคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม ทั้งนี้ อาจจัดกลุ่มกฎหมายได้เป็น 3  กลุ่มใหญ่ๆ  คือ 1) การกำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  2) การคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมเฉพาะเรื่อง และ 3) การคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมเฉพาะอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกำหนดภาระหน้าที่และบทบาทผ่านกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสภาองค์กรชุมชนตำบล แต่กฎหมายมีลักษณะเป็นการส่งเสริมซึ่งขาดสภาพบังคับที่ชัดเจน ทำให้มาตรการทางกฎหมายไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนผู้สืบสานมรดกทางวัฒนธรรมพื้นบ้านและประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในชุมชุมท้องถิ่นมีความต้องการให้หน่วยงานภาครัฐเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริม อนุรักษ์ และคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่น

การวิจัยจึงเสนอแนะให้ชุมชนท้องถิ่นที่มีมรดกทางวัฒนธรรมและการแสดงออกซึ่งศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านจัดตั้งเป็นสภาองค์กรชุมชนตำบลตามพระราชบัญญัติองค์กรชนชน พ.ศ. 2551 แล้วให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีพื้นที่ในชุมชุมท้องถิ่นนั้นสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของสภาองค์กรชุมชนตำบลหรือด้านอื่น โดยการตกลงระหว่างกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์กรมหาชน) เพื่อให้การส่งเสริม อนุรักษ์ และการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมเป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย