งานวิจัยและบทความ
การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์กับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าหมักโคลน บ้านนาต้นจั่น อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
โดย อิสรีย์ นรเศรษฐาภรณ์
เผยแพร่เมื่อ 22 พฤษภาคม 2024
การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม, มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ
วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยปทุมธานี. 12, 1 (มิ.ย. 2020), 39–52.
งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่เกี่ยวข้องกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าหมักโคลนที่ ชุมชนบ้านนาต้นจั่น อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยการใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ การสัมภาษณ์กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) ผู้ถือครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและ/หรือเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จำนวน 9 คน 2) นักท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จำนวน 18 คน ผลการศึกษาทำให้ทราบว่ายุคแรกเริ่มคนในชุมชนบ้านนาต้นจั่นได้ผลิตมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าหมักโคลน เพื่อดำรงชีวิตประจำวัน ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคก่อตั้งกลุ่มทอผ้าบ้านนาต้นจั่น มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าหมักโคลน ได้ก่อรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นจนกระทั่งสร้างรายได้แก่กลุ่มสมาชิกในชุมชนบ้านนาต้นจั่น และเมื่อเข้าสู่ยุคกระแสการท่องเที่ยว มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าหมักโคลนที่ชุมชนบ้านนาต้นจั่น ได้ถูกนำมาใช้ในฐานะเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ คนในชุมชนบ้านนาต้นจั่นได้นำกระบวนการผลิตภูมิปัญญาผ้าหมักโคลนมาเป็นฐานทรัพยากรการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน ซึ่งไม่ได้เพียงชมขั้นตอนการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาผ้าหมักโคลนเท่านั้น แต่ยังเป็นนักท่องเที่ยวที่มีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาผ้าหมักโคลน นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่ารูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่สัมพันธ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าหมักโคลน ที่ชุมชนบ้านนาต้นจั่นสามารถจำแนกได้เป็น 2 รูปแบบ ดังนี้ 1) การสร้างสรรค์ในฐานะกิจกรรมของนักท่องเที่ยว 2) การสร้างสรรค์ในฐานะฉากหลังของการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าหมักโคลนยังคงดำรงอยู่คู่ชุมชนบ้านนาต้นจั่น โดยกระบวนการเหล่านี้จะเกิดขึ้นมิได้หากปราศจากการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านนาต้นจั่นอย่างแท้จริง