งานวิจัยและบทความ
ละครในราชสำนัก : องค์ความรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย
โดย ขวัญใจ คงถาวร
เผยแพร่เมื่อ 23 พฤษภาคม 2024
ศิลปะการแสดง, มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและวิธีการสืบทอดละครในราชสํานัก รวมทั้งศึกษาสถานภาพละครในราชสํานักที่ปรากฏในสังคมไทย เพื่อให้เครือข่ายนาฏยศิลปินเกิดความตระหนักและมีส่วนร่วมปกป้ององค์ความรู้ละครในราชสํานักในฐานะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ศึกษาข้อมูลจากเอกสารหลักฐานต่างๆ การสัมภาษณ์ การสังเกต นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ สรุปผล จัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและจัดทำเป็นเอกสาร ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบละครในราชสำนักจะมุ่งเน้นศิลปะการร่ายรำที่ประณีต งดงามและยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างเคร่งครัด วิธีการสืบทอดละครในราชสำนักมีลักษณะเป็นภูมิปัญญาจากความสามารถและประสบการณ์เฉพาะตัวของครูผู้ฝึกซ้อม แบ่งเป็น 1.ทางตรง คือจากประสบการณ์ในการแสดงที่ตกผลึกเป็นองค์ความรู้ 2.ทางอ้อม คือการเรียนรู้จากผู้อื่น ทั้งจากครูผู้ฝึกหัด ผู้เชี่ยวชาญรวมไปถึงผู้ควบคุมการแสดง ซึ่งรูปแบบและวิธีสืบทอดดังกล่าวมีลักษณะเฉพาะบุคคล
ในด้านสถานภาพของละครในราชสำนัก สรุปเป็น 4 ระยะ ดังนี้ 1) ภายใต้การอุปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์ 2) ภายใต้การอุปถัมภ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ 3) ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานราชการ 4) ภายใต้ระบบสถาบันอุดมศึกษา ทั้งที่สังกัดกระทรวงวัฒนธรรมและสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยพบว่ามีจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 48 แห่ง ที่จัดการศึกษาด้านนาฏศิลป์ไทยตามแบบราชสำนัก แต่เป็นเพียงการฝึกหัดชุดการแสดงที่ใช้เวลาไม่มาก สำหรับการฝึกหัดเป็นตอนซึ่งใช้เวลาในการแสดงยาวนานคงมีเพียง 15 แห่ง ดังนั้น สถานภาพของละครในราชสำนักจึงมีความเสี่ยงที่จะสูญหายได้ในอนาคต