งานวิจัยและบทความ

แนวทางในการพัฒนาและสื่อความหมายแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ บนเส้นทางรถไฟสายมรณะ

โดย อภิญญา บัคคาลา อรุณนภาพร

เผยแพร่เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2024

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ

Silpakorn University e-Journal (Social Sciences, Humanities, and Arts) Volume 31, Number 2 (July-December), 2011


เส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า หรือทางรถไฟสายมรณะ (Death Railway) มีความสำคัญอย่างยิ่งในทางประวัติศาสตร์และในฐานะของความเป็นมรดกทางวัฒนธรรม แหล่งทางประวัติศาสตร์บางแห่งบนเส้นทางรถไฟนี้ได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวบ้างแล้ว ในขณะที่ยังมีแหล่งที่มีคุณค่าและความสำคัญอีกมากมาย จึงเป็นที่มาของการศึกษาหาแนวทางในการพัฒนาและสื่อความหมายแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่บนเส้นทางรถไฟสายมรณะนี้ อันมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการสำรวจแหล่งทางประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเพื่อวางแผนการตีความและสื่อความหมายมรดกทางวัฒนธรรมของแหล่งต่างๆ นี้ ให้เป็นที่เข้าใจและรู้จักมากขึ้นในหมู่คนไทยและชาวต่างชาติ ผ่านการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมแบบยั่งยืน โดยในการศึกษานี้การวิจัยเชิงคุณภาพได้ถูกนำมาใช้ในการศึกษาด้วยเทคนิควิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก, การสนทนากลุ่มและการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมกับกลุ่มตัวอย่าง 5 กลุ่มในระหว่างการทำงานเก็บข้อมูลภาคสนาม เพื่อที่จะสำรวจและศึกษาถึงคุณค่าของแหล่งประวัติศาสตร์ต่างๆ รวมถึงหลักในการพัฒนาแหล่งนั้นๆ และการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาผลการศึกษาทำให้ทราบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ต้องการให้เกิดการพัฒนาและตีความแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่และพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาโดยเชื่อว่าการท่องเที่ยวจะเป็นการสื่อความหมายมรดกวัฒนธรรมที่ดีวิธีหนึ่งส่วนจะมีการจัดการการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการตีความและสื่อความหมายเรื่องใด พร้อมทั้งได้ทราบถึงแหล่งประวัติศาสตร์ที่สมควรได้รับการพัฒนามากที่สุดจำนวน 6 แหล่งและเหตุผลสนับสนุนในด้านคุณค่า ความสำคัญทางมรดกวัฒนธรรมและสิ่งที่ต้องการสื่อความหมายส่วนรูปแบบในการพัฒนาและสื่อความหมายให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมแห่งใหม่นั้น สามารถนำเอาหลักการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเข้ามาใช้ในการวางแผน ซึ่งงานวิจัยนี้ได้ตอบโจทย์และร่วมวางรากฐานการมีส่วนร่วมของชุมชนเอาไว้แล้ว จากการให้โอกาสชุมชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นถึงแหล่งต่างๆ ที่สมควรได้รับการพัฒนา สิ่งสำคัญในการวางแผนการพัฒนาคือการสืบค้น บันทึก ตีความและสื่อความหมายคุณค่าและความสำคัญทางมรดกวัฒนธรรมของทั้ง 6 แหล่ง โดยการใช้เทคนิคต่างๆ ในการสื่อความหมายซึ่งล้วนเป็นสิ่งจำเป็นในการเล่าประวัติศาสตร์เส้นทางรถไฟสายมรณะให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น