งานวิจัยและบทความ

แนวทางการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อส่งเสริมคุณค่าและความสำคัญด้านมรดกทางวัฒนธรรม วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช สู่การเสนอชื่อเป็นแหล่งมรดกโลก

โดย วิรุจ ถิ่นนคร

เผยแพร่เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2024

การจัดการมรดกวัฒนธรรม, มรดกโลก
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ

วารสารวิชาการสถาปัตยกรรมศาสตร์ ปีที่ 64 (2015): มกราคม - ธันวาคม 2558


พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงลังกาหรือทรงระฆังอยู่ภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีในหลายมิติ เช่น การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่เป็นต้นแบบ และคติความเชื่อที่ถ่ายทอดมาเป็นประเพณีที่สืบทอดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

เนื่องด้วยจังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนราชการ และภาคเอกชนได้ร่วมกันเสนอให้วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราชขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ศึกษาและออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่อนุรักษ์สำคัญ (core zone) บริเวณภายในวัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอรูปแบบการปรับภูมิทัศน์พื้นที่อนุรักษ์สำคัญ โดยศึกษาจากเกณฑ์การพิจารณาในการขึ้นบัญชีแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมของยูเนสโก กฎหมายต่างๆ ที่ควบคุมในพื้นที่ แนวคิดในการอนุรักษ์แหล่งมรดก ประวัติศาสตร์ ปรัชญาคติความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และนำผลการวิเคราะห์ทางด้านกายภาพในแต่ด้าน ซึ่งประกอบด้วย การใช้ประโยชน์ที่ดิน เส้นทางสัญจร ที่เปิดโล่ง มุมมอง และรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่แนวทางในการปรับปรุงภูมิทัศน์และการกำหนดมาตรการควบคุมในด้านต่างๆ โดยสร้างความสำคัญเพื่อให้วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นโบราณสถานที่มีคุณค่า และมีความสอดคล้องกับเกณฑ์ตัวชี้วัด ในการประกาศคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (Outstanding Universal Value: OUV) ของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม