งานวิจัยและบทความ

แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โดย ชุษณะ เตชคณา, ณัฐพล ประดิษฐผลเลิศ, ธนรัตน์ รัตนพงศ์ธระ, เสรี วงษ์มณฑา

เผยแพร่เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2024

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ

วารสารวิชาการนวัตกรรมสื่อสารสังคม ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 (2016): กรกฎาคม - ธันวาคม 2559


งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาและวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกของการท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 2) เพื่อเสนอแนวทางเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพ ศึกษาสภาพแวดล้อมภายนอกและภายใน (SWOT) ของการท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนำมาจับคู่วิเคราะห์ (TOWS Matrix) เพื่อวางแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กลุ่มตัวอย่าง คือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 22 คน ได้แก่ กลุ่มผู้แทนภาครัฐ กลุ่มผู้แทนภาคเอกชน และกลุ่มผู้แทนชุมชน ใช้แบบสัมภาษณ์แบบกึ่งมีโครงสร้าง โดยการวิเคราะห์เนื้อหา

ผลการวิจัยพบว่า การท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีแนวทางการพัฒนา ดังต่อไปนี้ 1) การส่งเสริมและฟื้นฟูทรัพยากรมรดกวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยว ควรมีการรวบรวมองค์ความรู้และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีการเก็บรวบรวมไว้ นำเสนอในรูปแบบของการศึกษาทางการท่องเที่ยว การอนุรักษ์แหล่งมรดกวัฒนธรรมในเกาะพระนครศรีอยุธยา การพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวจัดเส้นทางท่องเที่ยวมากกว่าหนึ่งวัน 2) การพัฒนาคุณภาพสินค้าและการบริการทางการท่องเที่ยว ควรมีการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว เพื่อจัดบริการเส้นทางท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ การให้ความร่วมมือกับรัฐบาล แก้ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค พัฒนาทักษะการใช้ภาษาของผู้ประกอบการขนาดเล็ก การพัฒนาระบบฐานข้อมูลท่องเที่ยวโดยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ประกอบการให้ข้อมูลทางการท่องเที่ยว 3) การส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยวเพื่อเป็นศูนย์กลางอาเซียน ควรมีการส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวโดยต้องอาศัยการจดจำของนักท่องเที่ยวผ่านสื่อที่มีเอกลักษณ์ การพัฒนาการท่องเที่ยวสู่ศูนย์กลางวัฒนธรรมอาเซียน 4) การยกระดับการมีส่วนร่วมทางสังคมในแหล่งมรดกวัฒนธรรม ควรมีการส่งเสริมศักยภาพชุมชนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว การยกระดับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และ 5) การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม ควรมีการพัฒนาภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการท่องเที่ยว การพัฒนาระบบขนส่งและการจราจร