งานวิจัยและบทความ

การสร้างกลไกความร่วมมือเพื่อสืบสานและคุ้มครองภูมิปัญญาที่เป็นมรดกร่วมทางสังคมและวัฒนธรรม ของอาเซียนภาคพื้น : ไทย ลาว และกัมพูชา

โดย วัชราภรณ์ จันทนุกูล

เผยแพร่เมื่อ 25 พฤษภาคม 2024

การอนุรักษ์และสงวนรักษามรดกวัฒนธรรม
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ

วารสารบัณฑิตวิทยาลัย พิชญทรรศน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี, ปีที่ 13 ฉบับที่ 2 (2018)


บทความวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย เรื่อง การสร้างกลไกความร่วมมือเพื่อสืบสานและคุ้มครองภูมิปัญญาที่เป็นมรดกร่วมทางสังคมและวัฒนธรรมของอาเซียนภาคพื้น : ไทย ลาว และกัมพูชา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกลไกความร่วมมือเพื่อสืบสานและคุ้มครองภูมิปัญญาที่เป็นมรดกร่วมทางสังคมและวัฒนธรรมของอาเซียนภาคพื้น : ไทย ลาว และกัมพูชา ซึ่งเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ แหล่งข้อมูลการวิจัยประกอบด้วย (1) เอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้อง แนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และ (2) ประชากรเป้าหมายซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลหลัก ได้แก่ พระสงฆ์ นักวิชาการ ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ปฏิบัติการ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสังคมและวัฒนธรรม ภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษาทั้ง 3 ประเทศ ซึ่งคัดเลือกโดยวิธีการสืบเสาะหา ด้วยวิธีการบอกต่อ จำนวน 21 รูป/คน ใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการศึกษาพบว่า กลไกความร่วมมือเพื่อสืบสานและคุ้มครองภูมิปัญญาที่เป็นมรดกร่วมทางสังคมและวัฒนธรรมของอาเซียนภาคพื้น : ไทย ลาว และกัมพูชา ประกอบด้วย 6 มิติ ดังนี้ (1) มิตินโยบาย ได้แก่ กำหนดนโยบายอย่างชัดเจนและสามารถดำเนินการได้จริง และกำหนดนโยบายให้เป็นวาระสำคัญแห่งองค์กร (2) มิติขององค์กรภาครัฐ ได้แก่ การสนับสนุนให้เกิดการทำงานเชิงรุก การส่งเสริมหรือผลักดันนโยบาย และการรณรงค์ในการสืบสาน คุ้มครองภูมิปัญญาที่เป็นมรดกร่วมทางสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (3) มิติขององค์กรภาคการศึกษา ได้แก่ การสร้างความรู้ความเข้าใจในคุณค่าของภูมิปัญญาที่เป็นมรดกด้านสังคมและวัฒนธรรมของอาเซียน การส่งเสริมการจัดศูนย์การเรียนรู้หรือศูนย์แสดงงานด้านสังคมและวัฒนธรรม การส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และการประสานความร่วมมือกับภาคีอื่นๆ (4) มิติขององค์กรภาคประชาสังคม ได้แก่ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และการทำหน้าที่พิทักษ์ รักษาและเฝ้าระวัง (5) มิติขององค์กรภาคประชาชน ได้แก่ การสร้างความเป็นตัวแทนหรืออาสาสมัคร การสร้างทายาททางวัฒนธรรม และการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม และ (6) มิติขององค์กรศาสนาหรือพระสงฆ์ ได้แก่ การปลูกจิตวิญญาณให้เข้าถึงศิลปวัฒนธรรม การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม การให้ความรู้เพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และการเป็นผู้นำในการดูแลรักษาแหล่งโบราณคดี