งานวิจัยและบทความ
แนวทางการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย : ศึกษาเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศอินเดีย
โดย วิวิธ วงศ์ทิพย์
เผยแพร่เมื่อ 25 พฤษภาคม 2024
ภูมิปัญญาท้องถิ่น, การอนุรักษ์และสงวนรักษามรดกวัฒนธรรม
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ
การวิจัยเรื่องนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาลักษณะ หลักการแห่งสิทธิ และแนวทางในการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น 2) วิเคราะห์กฎหมายไทยที่เกี่ยวกับการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นและกฎหมายของประเทศอินเดีย และ 3) นำผลการวิเคราะห์มาเป็นองค์ความรู้ใหม่และเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยและการพัฒนากฎหมายเพื่อคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น
ผู้วิจัยได้ศึกษาและวิเคราะห์การคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นของประเทศไทยและประเทศอินเดีย แล้วพบว่าทั้งสองประเทศยังไม่มีกฎหมายเฉพาะ (sui generis) ในการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยตรง เนื่องจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของทั้งสองประเทศมีความหลากหลายและเกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ องค์ความรู้ทางพันธุกรรมพืช สมุนไพร วิธีการบำบัดรักษา โรค และมรดกทางวัฒนธรรม ประกอบกับหลักการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นระหว่างประเทศก็ยังไม่มีความตกลงระหว่างประเทศใดให้ความคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้โดยตรงและครอบคลุมภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้งหมด จึงทำให้ทั้งประเทศไทยและประเทศอินเดียซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นจำเป็นต้องตรากฎหมายภายในเพื่อคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นบางประเภททั้งในรูปแบบกฎหมาย เฉพาะและระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งผลจากการศึกษาสรุปได้ว่า ประเทศอินเดียมีระบบการบริหารจัดการเกี่ยวกับทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบรวมศูนย์ ในขณะที่ประเทศไทยมีระบบการบริหารจัดการทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบแยกตามส่วนตามความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน จึงเกิดการทำหน้าที่ซ้ำซ้อนและขาดการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ดังนั้น ผู้วิจัยจึงเสนอแนวทางสำหรับการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย คือ การกำหนดหลักการแห่งสิทธิของเกษตรกรและสิทธิชุมชนให้มีสิทธิร่วมในภูมิปัญญาท้องถิ่น การพัฒนากฎหมายคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นกฎหมายเฉพาะ การปรับปรุงแก้ไขระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อปิดช่องว่างในการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นไปถือสิทธิโดยบุคคล สร้างความร่วมมือและความตกลงระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยตรง และส่งเสริมอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย