งานวิจัยและบทความ

การสืบทอดศิลปะการแสดงหนังตะลุงในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

โดย กษิด์เดช เนื่องจำนงค์, ปรเมศวร์ นวลขาว

เผยแพร่เมื่อ 25 พฤษภาคม 2024

ศิลปะการแสดง, การอนุรักษ์และสงวนรักษามรดกวัฒนธรรม
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ

วารสารสวนสุนันทาวิชาการและวิจัย. 17, 1 (มิ.ย. 2023), 1–11.


งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสืบทอดศิลปะการแสดงหนังตะลุง จังหวัดสุราษฎร์ธานีด้วยวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้และแนวคิดเกี่ยวกับศิลปะการแสดงหนังตะลุงเป็นกรอบในการวิจัยผ่านกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูล จาก 3 วิธี คือ การสังเกต การสัมภาษณ์ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยได้กำหนดกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้สืบทอด กลุ่มภาครัฐ และกลุ่มภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับการสืบทอดศิลปะการแสดงหนังตะลุง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้วิจัยได้ทำการคัดเลือกโดยการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกและวิเคราะห์เชิงพรรณนาโวหารโดยใช้ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องเป็นกรอบในการวิเคราะห์ข้อมูล

จากการศึกษาพบว่าศิลปะการแสดงหนังตะลุง จังหวัดสุราษฎร์ธานี มี 2 ลักษณะหลัก 1) การสืบทอดผ่านระบบเครือญาติ และ 2) การสืบทอดผ่านครูสู่ศิษย์ โดยส่วนใหญ่มีการสืบทอดผ่านระบบเครือญาติจากรุ่นสู่รุ่นผ่านการฝึกหัดและฝึกฝนจากคนในครอบครัว เช่น จากปู่สู่พ่อ จากพ่อสู่ลูก จากพี่สู่น้อง เป็นต้น และการสืบทอดจากครูสู่ศิษย์ เป็นการสืบทอดจากครู อาจารย์ หรือปราชญ์ชาวบ้านผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับหนังตะลุงผ่านสถานศึกษา สมาคม ชมรม และหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีบทบาทในการสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมศิลปะการแสดงหนังตะลุงเพื่อให้เยาวชนในจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้เกิดความตระหนักและให้ความสำคัญในการสืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมศิลปะการแสดงหนังตะลุง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผ่านการเข้าร่วมโครงการ กิจกรรม และการจัดฝึกอบรม เป็นต้น