งานวิจัยและบทความ
รูปแบบเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษชุมชนปกาเกอะญอฤๅษีคนต้นทะเล บ้านมอทะ-หม่องกว๊ะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
โดย สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์
เผยแพร่เมื่อ 25 พฤษภาคม 2024
มรดกวัฒนธรรม, ชาติพันธุ์
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ
วารสารวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (JOFA), ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 (2018)
การศึกษารูปแบบเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษชุมชนปกาเกอะญอฤๅษีคนต้นทะเล บ้านมอทะ-หม่องกว๊ะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนปกาเกอะญอฤๅษี คนต้นทะเลบ้านมอทะ-หม่องกว๊ะ และเพื่อศึกษารูปแบบเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษของชุมชนปกาเกอะญอฤๅษี คนต้นทะเลบ้านมอทะ-หม่องกว๊ะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ให้ข้อมูลครอบคลุม กลุ่มเยาวชน แม่บ้าน ผู้รู้ภูมิปัญญาด้านต่างๆ ของชุมชนรวมกันไม่น้อยกว่า 30 คนมีเงื่อนไขต้องเข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เครื่องมือการเก็บข้อมูลอย่างมีส่วนร่วม ได้แก่ แผนที่ชุมชนทางกายภาพ แผนที่วัฒนธรรม และแผนที่ผู้รู้ (community Mapping) การวิเคราะห์ปฏิทินทางวัฒนธรรม (Cultural Calendar Analysis) การสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) ในการศึกษาคุณค่าความหมายของมรดกทางวัฒนธรรมและการตรวจสอบข้อมูล การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interviews) เดินศึกษาเรียนรู้พื้นที่ชุมชนจริง (Transect Walk) ในการศึกษาสภาพของพื้นที่จริงของมรดกทางวัฒนธรรม เสียงแห่งเมล็ดพันธุ์ (Voice of Seeds) ในการศึกษามติชุมชนประเด็นความต้องการอนุรักษ์ ปกป้อง สืบสานและพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน และการสังเกตแบบมีส่วนร่วม (Participatory Observation) ในการศึกษารูปแบบประเพณีพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในชุมชนและการใช้ประโยชน์มรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน โดยมีกระบวนการตรวจสอบข้อมูลแบบทั้งสามเส้าด้านข้อมูล (Data Triangulation) และสามเส้าด้านวิธีรวบรวมข้อมูล (Methodological Triangulation) โดยใช้แนวคิดทฤษฎีเป็นกรอบแนวคิดสำหรับการอภิปรายผลและสร้างบทสรุปโดยการนำข้อสรุปย่อยที่ทำไว้มาประมวลเข้าด้วยกัน ให้เป็นชุดของคำอธิบายที่ได้เรื่องราวและเข้าใจ
ผลการศึกษาพบมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนปกาเกอะญอฤๅษี คนต้นทะเลบ้านมอทะ-หม่องกว๊ะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ได้แก่ พืออิสิ หรือองค์ฤๅษี เป็นผู้นำสูงสุดทางทางจิตวิญญาณสวนเรียนรู้คนต้นทะเล ปรัชญาสวนคนขี้เกียจ ป่าต้นน้ำและป่าอนุรักษ์ ต่าม่าบุ๊ล่อ หรือ สำนักฤๅษี ไร่หมุนเวียน รูปแบบเกษตรกรรมยั่งยืน การไว้มวยผม อัตลักษณ์ชายผู้นับถือศรัทธาฤๅษี อัตลักษณ์การแต่งกายแบบ ปกาเกอะญอ ป่าชุมชน ประเพณีเรียกแขกกินข้าว การทอผ้า การจักสาน ต้นบุกและมะอิ ประเพณีมาบุ๊โค๊ะ การทำบุญไหว้เจดีย์ ฤๅษี และเตาไฟ อัตลักษณ์ห้องครัวในบ้านปกาเกอะญอ หัวใจของบ้าน
ส่วนรูปแบบเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษของชุมชนปกาเกอะญอฤๅษีบ้านมอทะ-หม่องกว๊ะ พบว่าเป็นการนำมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนบรรจุอยู่ในเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษของชุมชน แสดงให้เห็นถึงความเป็นพื้นที่เขตพิเศษที่มีทั้งพื้นที่ทางกายภาพ (Physical Space) พื้นที่ทางสังคม (Social Space) และและพื้นที่จิตวิญญาณ (Spiritual Space) โดยมีสำนักฤๅษีเป็นเป็นพื้นที่ศูนย์กลาง (Hub) ของพื้นที่เขตพิเศษทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชน เนื่องจากเป็นสถานที่ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์ของการพบปะแลกเปลี่ยนพูดคุย เป็นพื้นที่ศูนย์รวมจิตใจเพราะเป็นที่ซึ่งองค์ฤๅษีพำนักอยู่ เป็นสถานที่ในการประกอบกิจกรรมทางวัฒนธรรมของชุมชน