งานวิจัยและบทความ

การกำหนดคุณค่าตามเกณฑ์การพิจารณาแหล่งมรดกโลก ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป (กลุ่ม CLMV): การสังเคราะห์ความรู้เพื่อเป็นแนวทางสำหรับราชอาณาจักรไทย

โดย เกรียงไกร เกิดศิริ, นันทวรรณ ม่วงใหญ่

เผยแพร่เมื่อ 25 พฤษภาคม 2024

มรดกโลก
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ

วารสารหน้าจั่ว ว่าด้วยสถาปัตยกรรม การออกแบบ และสภาพแวดล้อม, ปีที่ 30 (2016)


การพิจารณายกย่องแหล่งมรดกโลกในปัจจุบันมีขั้นตอนและแนวทางการปฏิบัติที่ซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงจากเดิมมาก ด้วยมุ่งหมายเพื่อคัดกรองแหล่งที่มีศักยภาพอย่างแท้จริงเข้าสู่กระบวนการขอรับการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก โดยให้รัฐภาคีสมาชิกฯ ที่ต้องการนำเสนอแหล่งนั้น ต้องดำเนินการประเมินศักยภาพแหล่งของตนเองที่ต้องการนำเสนอเปรียบเทียบกับแหล่งอื่นๆ ที่ได้รับการยกย่องเป็นแหล่งมรดกโลก หรือแหล่งในบัญชีรายชื่อชั่วคราวที่รอรับการพิจารณาว่ามีศักยภาพหรือไม่

ในการศึกษานี้ มุ่งศึกษาเชิงวิพากษ์ข้อมูลในเอกสารนำเสนอเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบความสอดคล้องเกณฑ์ที่แต่ละแหล่งกำหนดว่าสอดคล้องกับกับคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลที่แท้จริงของแหล่ง เพื่อเข้าสู่การพิจารณาเป็นแหล่งมรดกโลกของรัฐภาคีสมาชิกฯ ในกลุ่ม CLMV และราชอาณาจักรไทย

ทั้งนี้ใช้กรณีศึกษาแหล่งในบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม จำนวน 26 แหล่ง และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น จำนวน 14 แหล่ง เพื่อถอดบทเรียนในการวางกลยุทธ์ และการกำหนดเกณฑ์ที่สอดคล้องกับคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลของแหล่ง เพื่อเป็นแนวทางในการนำเสนอแหล่งในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นของราชอาณาจักรไทยเพื่อขอรับการยกย่องเป็นแหล่งมรดกโลกต่อไป