งานวิจัยและบทความ

รูปแบบพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น: การจัดการมรดกวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นแหล่งเรียนรู้และสนับสนุนการท่องเที่ยว ในพื้นที่บางกะเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ

โดย ฉันทนา สุรัสวดี

เผยแพร่เมื่อ 2 เมษายน 2024

พิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุ, การจัดการมรดกวัฒนธรรม, การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ

วารสารวิจัยราชภัฏพระนคร สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 (2018): มกราคม-มิถุนายน 2561


งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการจัดการและจัดทําฐานข้อมูลมรดกทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญา เพื่อเผยแพร่งานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น และการจัดการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างยั่งยืน การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนสนับสนุนการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่พิพิธภัณฑ์วัดบางกระสอบและวัดบางกอบัว เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วยแบบสํารวจ ประเด็นสนทนากลุ่ม แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม แบบบันทึกโบราณวัตถุ แบบประเมินการจัดโครงการหรือกิจกรรม ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหาแยกตามข้อมูลที่ได้จากการสนทนา แบบสัมภาษณ์ และใช้สถิติวิเคราะห์ความพึงพอใจ

ผลการวิจัย

(1) ข้อมูลมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ของวัดบางกระสอบคือวัตถุมงคลหลวงปู่เชย เครื่องลายครามและจิตรกรรมเขียนสีในสมุดไทยโบราณจารึกอักษรขอมเป็นแบบอย่างศิลปสมัยรัตนโกสินทร์ยุคต้น ภูมิปัญญาการทำตาล การแทงหยวกและฉลุกระดาษ ส่วนวัดบางกอบัวคือ ตําหรับยาเขียวของหลวงปู่เหมือน โบราณวัตถุ เครื่องถ้วย หมู่กุฏิไม้ทรงไทย และอุโบสถโค้งสำเภาสมัย รัตนโกสินทร์ตอนต้น

(2) รูปแบบการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์จัดแบ่งพื้นที่เป็น ส่วนประวัติวัด การสืบสานและพัฒนาวัด ภูมิปัญญาชุมชน วิถีชีวิตวัฒนธรรม ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ในชุมชนและมีพื้นที่เพื่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ผลจากการมีส่วนร่วมทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน มีความภาคภูมิใจในมรดกวัฒนธรรมของตน การศึกษาดูงานช่วยเสริมสร้างความมั่นใจ ความยั่งยืนของพิพิธภัณฑ์เกิดจากการให้คนในชุมชนเข้ามามีบทบาทในการดำเนินงานเป็นเจ้าของร่วมกัน และได้รับประโยชน์ร่วมกัน