งานวิจัยและบทความ

การรับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่น “พระนางจามเทวี” สู่แนวทางการพัฒนาในจังหวัดลำพูน

โดย นเรนทร์ ปัญญาภู, สุวิภา จำปาวัลย์

เผยแพร่เมื่อ 26 พฤษภาคม 2024

ประวัติศาสตร์
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ

วารสารวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (JOFA), ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 (2017)


การรับรู้ประวัติพระนางจามเทวีตามกระแสการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ กลายเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่มีพลังขับเคลื่อนในการพัฒนาจังหวัดลำพูนในปัจจุบัน โดยการเผยแพร่สื่อที่นำมาสู่การรับรู้แบ่งได้ 2 ประเภท ที่นำไปสู่การพัฒนาเมืองลำพูนตามแนวทางต่างๆ คือ

การรับรู้จากเอกสาร ตำนาน และเรื่องเล่า จากการสัมภาษณ์ผู้สูงอายุที่มีอายุอยู่ในช่วง 60-100 ปี ในจังหวัดลำพูน พบว่าการรับรู้เรื่องราวของพระนางจามเทวีจากคำบอกเล่าที่กล่าวว่าสถานที่กำเนิดพระนางอยู่ที่บ้านหนองดู่โดยมีตำนานท้องถิ่นสนับสนุนเรื่องเล่านี้ ทำให้ตั้งแต่ พ.ศ.2547 เป็นต้นมาเกิดการพัฒนาทางวิชาการเพื่อหาข้อมูลรองรับโครงการผลักดันเมืองลำพูนสู่มรดกโลก การค้นคว้าประวัติศาสตร์ท้องถิ่น รวมทั้งการขุดแต่งแหล่งโบราณสถานบ้านหนองดู่ และบ้านบ่อคาว เป็นการเพิ่มคุณค่าแก่มรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเมืองลำพูน

การรับรู้จากสื่อประกอบการเล่าเรื่อง ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ถ่ายทอดเรื่องราวของพระนางจามเทวี เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนัง รูปปั้น ภาพเหมือน วัตถุมงคล ในการเชื่อมโยงสถานที่เกี่ยวข้องกับประวัติพระนางจามเทวี ให้เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมบวงสรวง จัดกิจกรรมการแสดงต่างๆ ในจังหวัดลำพูน เป็นการผลิตซ้ำสัญลักษณ์ และเรื่องราวของพระนางจามเทวี เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของจังหวัดลำพูน ในการระดมทุนและกำลังคนเพื่อสนับสนุนการจัดงานประเพณี พิธีกรรม การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และกิจกรรมประจำปีในระดับจังหวัด