งานวิจัยและบทความ

การประเมินคุณค่าสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในพื้นที่เมืองเก่า

โดย ชินศักดิ์ ตัณฑิกุล, วิรุจ ถิ่นนคร, วีระ อินพันทัง

เผยแพร่เมื่อ 26 พฤษภาคม 2024

แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ

วารสารหน้าจั่ว ว่าด้วยสถาปัตยกรรม การออกแบบ และสภาพแวดล้อม, 35, 1 (มิ.ย. 2020), B19-B34.


พื้นที่เมืองเก่า หรือพื้นที่ประวัติศาสตร์เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่า ซึ่งมีอาคารสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่มีความสำคัญในฐานะเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม โดยมีวัตถุประสงค์การศึกษาเพื่อสร้างเกณฑ์วัดคุณค่าของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในประเทศไทย โดยมีขอบเขตเน้นพื้นที่ศึกษาในบริบทเมืองเก่า และเพื่อทราบถึงคุณค่าของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในพื้นที่เมืองเก่า วิธีการศึกษาจากทฤษฎีและแนวคิดของมรดกทางวัฒนธรรม เมืองเก่า สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและเกณฑ์การประเมินคุณค่าของหน่วยงานในระดับสากล คือ องค์กรยูเนสโก และหน่วยงานภายในประเทศไทยคือ กรมศิลปากรและสมาคมสถาปนิกสยาม เพื่อนำมาวิเคราะห์และสร้างเครื่องมือวัดเกณฑ์เฉพาะการประเมินคุณค่าสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในพื้นที่เมืองเก่าที่มีความสอดคล้องกับแนวคิดของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น และมรดกทางวัฒนธรรม

ผลการศึกษาพบว่า แม้ยูเนสโกได้ขยายขอบเขตพื้นที่อนุรักษ์กว้างขึ้นให้ครอบคลุมถึงมรดกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแล้ว แต่สาเหตุที่สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไม่ได้รับการให้คุณค่าเพราะ กรมศิลปากรยังคงใช้เกณฑ์ประเมินสำหรับอาคารที่มีคุณค่าสูงและดำเนินการอนุรักษ์โดยเน้นที่การซ่อมแซมหรือบูรณะอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์โบราณคดีสูง ศาสนสถานสำคัญหรืออาคารที่มีฐานานุศักดิ์ โดยเน้นการรักษาคุณค่าด้านรูปแบบความเป็นของแท้ดั้งเดิมเป็นหลัก และกลไกทางกฎหมายในการอนุรักษ์ที่มีความซับซ้อนในการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ซึ่งขัดกับแนวคิดการอนุรักษ์ในปัจจุบันที่ไม่จำกัดการให้คุณค่าเฉพาะโบราณสถานหรือลักษณะทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมด้านอื่นๆ ด้วย และจากการวิเคราะห์เปรียบเทียบคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมกับเกณฑ์มาตรฐานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การสร้างเกณฑ์การประเมินคุณค่าสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในพื้นที่เมืองเก่าสามารถแบ่งเป็น 4 ด้าน คือ ด้านสุนทรียภาพ ประวัติศาสตร์ วิทยาการและการศึกษา และสังคม ซึ่งมีความสอดคล้องกับแนวทางการอนุรักษ์ในปัจจุบัน