งานวิจัยและบทความ


การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1. เพื่อศึกษาสภาพแวดล้อม และศักยภาพการบริหารจัดการท่องเที่ยว 2. เพื่อศึกษากลยุทธ์ทางการตลาดในการให้บริการของกิจการในเขตแหล่งท่องเที่ยว 3. เพื่อศึกษาปัญหา และความต้องการผู้ที่เกี่ยวข้องในการบริการจัดการท่องเที่ยว และ4. เพื่อสำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวในการมาใช้บริการแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกด้านวัฒนธรรม กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับแหล่งท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกด้านวัฒนธรรม จำนวน 20 คน ผู้ประกอบการและผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณเขตพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกด้านวัฒนธรรม จำนวน 60 คน และนักท่องเที่ยวที่การมาใช้บริการแหล่งท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกด้านวัฒนธรรม ซึ่งประกอบด้วย 4 จังหวัด จำนวน 385 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์ จำนวน 1 ชุด และแบบสอบถาม จำนวน 2 ชุด สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า

        1. แหล่งท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกด้านวัฒนธรรมอยู่ในตำแหน่งที่มีจุดแข็งโดดเด่นในด้านทรัพยากรการท่องเที่ยว และด้านการตลาดทางการท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีสภาพแวดล้อมภายนอกที่เป็นโอกาส โดยเฉพาะกระแสการเดินทางท่องเที่ยวและการเปิดประชาคมอาเซียน แต่สำหรับด้านธุรกิจการบริการ การท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวกภาครัฐยังจำเป็นต้องมีการพัฒนาปรับปรุง รวมทั้งการป้องกันอุปสรรคต่างๆ โดยมีการบริหารงานแบบบูรณาการร่วมกัน และต้องทำการเสริมสร้างพันธมิตร พัฒนาจุดแข็งด้านทรัพยากรการท่องเที่ยวและการตลาด โดยจะต้องป้องกันข้อจำกัด และเร่งแก้ปัญหาด้านบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพมาตรฐาน และการยอมรับในระดับสากล

         2. กลยุทธ์ทางการตลาด/การให้บริการของกิจการ มีการตรวจสอบความปลอดภัยหรือคุณภาพ ของสินค้าหรือการให้บริการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีระยะเวลาในการตรวจไม่แน่นอน ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการอบรมจากโดยหน่วยงานทางราชการ คุณภาพการให้บริการเท่ากับคู่แข่งหรือร้านอื่นๆ และการประกอบกิจการสร้างความประทับใจแก่ลูกค้าคือการให้บริการตามความต้องการของลูกค้า ส่วนกลยุทธ์ทางการตลาดที่ใช้ดึงดูดลูกค้าเข้ามาให้บริการในกิจการ โดยรวมอยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับข้อที่มีค่ามากไปหาน้อย                 อันดับแรก คือ ผู้ให้บริการมีทักษะในการสื่อภาษาอยู่ในระดับดี/มีอัธยาศัยดี รองลงมา คือ จัดสถานที่ให้เหมาะสม/มีความสวยงาม/สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย และการติดป้ายประชาสัมพันธ์/ตั้งอยู่ในทำเลที่ตั้งสะดวกในการค้นหา ตามลำดับ

          3. ระดับปัญหา และความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้องในการบริการจัดการท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกด้านวัฒนธรรม โดยรวมอยู่ในระดับมาก อันดับแรก คือ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกด้านวัฒนธรรมไม่สม่ำเสมอ รองลงมา คือ ขาดความรู้ในด้านการให้บริการกิจกรรมนันทนาการ/ร้านอาหาร และขาดการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวทางสื่อต่างๆ ตามลำดับ

         4. พฤติกรรมการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกด้านวัฒนธรรม มีวัตถุประสงค์ในการมาท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว โดยใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทางมากับกลุ่มเพื่อน ส่วนใหญ่มาเที่ยว 2-3 ครั้งแล้ว แหล่งท่องเที่ยวที่ต้องการคือโบราณสถาน/วัตถุ ใช้เวลาในการท่องเที่ยว 1 ชั่วโมง ซึ่งส่วนใหญ่รู้จักแหล่งท่องเที่ยวจากสื่อออนไลน์ เช่น Facebook, Youtube, Line นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เลือกใช้บริการร้านอาหารและเครื่องดื่ม และชำระเงินค่าใช้บริการด้วยเงินสด ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายโดยเข้าชมกิจกรรมนันทนาการฟรี/มีส่วนลดพิเศษกรณีเป็นมาเป็นกลุ่มนักเรียนนักศึกษา และมีความประทับใจศูนย์การเรียนรู้/การให้ข้อมูลข่าวสาร ส่วนความคิดเห็นการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกด้านวัฒนธรรม เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวและชุมชน โดยรวมอยู่ในระดับมาก อันดับแรก คือ การให้บริการที่หลากหลายตรงตามความต้องการ รองลงมา คือ สถานที่สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม เหมาะสมกับเป็นแหล่งท่องเที่ยว และการวางโครงสร้างระบบการบริหารจัดการของเหมาะสม/สะดวกในการใช้บริการ ตามลำดับ