งานวิจัยและบทความ
แนวทางการจัดการศึกษาด้านศิลปกรรมที่ส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์
โดย ทวีวัฒน์ จิตติเวทย์กุล
เผยแพร่เมื่อ 26 พฤษภาคม 2024
ศิลปกรรม, เศรษฐกิจสร้างสรรค์
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ
วารสารสังคมศาสตร์และวัฒนธรรม, ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 (2022): กรกฎาคม - ธันวาคม 2565
บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความสำคัญของการอนุรักษ์ สืบสานและการจัดการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรม 2) ศึกษาการบูรณาการความร่วมมือการจัดการศึกษาศิลปกรรมกับเครือข่ายด้านศิลปวัฒนธรรมและ 3) นำเสนอแนวทางการจัดการศึกษาด้านศิลปกรรมที่ส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลภาคสนามจากผู้บริหารและคณาจารย์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาศิลปกรรม โดยการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การวิจัย จำนวน 20 คน สรุปข้อมูลเบื้องต้นจากเอกสาร วิเคราะห์ สังเคราะห์และตีความสร้างบทสรุปชั้นต้นโดยผู้วิจัย จัดประชุมสนทนากลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 12 คน เพื่อรับรองผลและให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ผลวิจัยพบว่า 1) การจัดการศึกษาด้านศิลปกรรม ยังไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุผลในเชิงธุรกิจได้ ต้องรับการสนับสนุนงบประมาณจากภาคราชการและเน้นพันธกิจด้านการอนุรักษ์ สืบสานและต่อยอดศิลปวัฒนธรรมในเชิงวิชาการ 2) ด้านความร่วมมือในการจัดการ มีการประสานเครือข่ายด้านทุนมนุษย์ ทุนทางสังคมและทุนทางวัฒนธรรมกับหน่วยงานและกลุ่มวิชาชีพด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์และทัศนศิลป์ เพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาให้รองรับความต้องการของผู้เรียนถึงระดับวิชาชีพชั้นสูงและ 3) แนวทางการจัดการศิลปกรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ คือ การบูรณาการอย่างสมดุลระหว่าง การส่งเสริมเชิงวิชาชีพ การสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการและการประยุกต์ภูมิปัญญาเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าทางวัฒนธรรม ข้อค้นพบในวิจัยนี้ คือ แนวทางการจัดการศึกษาแบบสามเอ หรือ Triple A Methods (Artist career - Academic – Add value) เป็นแนวทางการส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ประกอบด้วย การจัดการศึกษาเพื่อสร้างอาชีพ เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาการและเพิ่มคุณภาพ คุณค่าและมูลค่าสำหรับผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม