งานวิจัยและบทความ

การพัฒนาแนวทางการประกอบการเพื่อสังคมเพื่อการอนุรักษ์เมืองเก่าสงขลา

โดย ดวงใจ นันทวงศ์

เผยแพร่เมื่อ 26 พฤษภาคม 2024

การจัดการมรดกวัฒนธรรม, เมืองเก่า
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ

สาระศาสตร์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 (2563): สาระศาสตร์


เมืองมรดกโลกแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโก ให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น เป็นสถานที่อันทรงคุณค่าและคู่ควรแก่การรักษา การบริหารจัดการที่ไม่เหมาะสมอาจส่งผลกระทบซึ่งนำมาถึงความเสื่อมโทรมต่อแหล่งมรดกได้ สงขลาเป็นเมืองเก่าที่ได้รับประกาศตามมติคณะรัฐมนตรีให้ทุกฝ่ายช่วยกันรักษาเมืองเก่า สอดคล้องกับนโยบายการอนุรักษ์เมืองเก่าของหน่วยงานราชการในระดับท้องถิ่นและกลุ่มประชาสังคม ด้วยจุดมุ่งหมายในการยื่นรายชื่อเมืองเก่าสงขลา เข้าสู่กระบวนการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมการและแผนบริหารจัดการเมืองให้ได้รับการอนุรักษ์คุ้มครองพื้นที่อย่างเหมาะสม โดย “ภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม” เป็นองค์กรภาคประชาชนที่ดำเนินการอนุรักษ์-พัฒนาเมืองมาอย่างต่อเนื่อง รวบรวมรักษาและเผยแพร่ความรู้เรื่องเมืองเก่าสงขลา เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาคุณค่าของเมือง สนับสนุนการนำเมืองสงขลาสู่เมืองมรดกโลกร่วมกับองค์กรภาคประชาชน เอกชนและภาครัฐ จากการทบทวนวรรณกรรมและกรณีศึกษาในระดับสากล เห็นถึงโอกาสของการพัฒนาเมืองด้วยการนำแนวความคิดการประกอบการเพื่อสังคม (social enterprise) สร้างผลประโยชน์ร่วมในการอนุรักษ์เมือง โดยการระดมทุนจัดตั้ง บริษัทสงขลาเฮอริเทจ จำกัด ด้วยการมีส่วนร่วมกับชุมชน สร้างแผนการบริหารจัดการเมืองเก่า เพื่อนำมาซึ่งการอนุรักษ์พัฒนาเมืองเก่าอย่างยั่งยืน

การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory action research) สอดคล้องกับขั้นตอนในการพัฒนาแนวทางการประกอบเพื่อสังคม โดยเก็บรวบรวมข้อมูลบริบทของพื้นที่ นำมาวิเคราะห์ประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไขร่วมกัน การร่วมวางแผนดำเนินการ สังเกต สะท้อนผลนำมาหาซึ่งผลสรุป จนได้รูปแบบการประกอบการเพื่อการพัฒนาเมือง จดทะเบียนจัดตั้งองค์กรต้นแบบ บริษัท สงขลาเฮอริเทจ จำกัด ร่วมกับตัวแทนชุมชน บ้านข้าวโม่ ตามแผนธุรกิจด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อออกแบบฟื้นฟูอาคารทรงคุณค่า การจัดการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้วัฒนธรรม การพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น ทดลองดำเนินกิจการร่วมกันกับชุมชน และประเมินผลการดำเนินการ เพื่อสรุปการพัฒนาแนวทางการประกอบการเพื่อสังคมที่จะสนับสนุนในการอนุรักษ์-พัฒนาเมืองเก่าสงขลา ผลการดำเนินงานสาสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงภายในพื้นที่ ชุมชนร่วมกันปรับปรุงฟื้นฟูอาคารเก่าในพื้นที่ถนนหนองจิก เกิดฐานเรียนรู้ภูมิปัญญาในชุมชน โครงการฟื้นฟูบูรณะศาลเจ้าปุนเถ้ากงร่วมกับชุมชน ศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนบริษัทสงขลาเฮอริเทจในพื้นที่ เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ด้านการประกอบการเพื่อสังคมเป็นแบบอย่างสำหรับการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป