งานวิจัยและบทความ

มรดกแห่งชีวิตประจำวันในย่านที่หลากหลายของเมืองประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช
โดย ปูรณ์ ขวัญสุวรรณ
เผยแพร่เมื่อ 26 พฤษภาคม 2024
เมืองเก่า, ย่านชุมชนเก่า
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ
แนวคิดในการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน ได้ถูกพัฒนาภายใต้การถกเถียงที่ผ่านประสบการณ์ของโลกตะวันตก และบริบทที่ต่างเงื่อนไขกับบริบทของไทย นับแต่อิโคโมสสากลได้มีการออกกฎบัตรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์เมืองและชุมชนเมืองประวัติศาสตร์ (Charter for the Conservation of Historic Towns and Urban Areas) หรือ Washington Charter ในปี ค.ศ. 1987 หลังจากการออกสนธิสัญญามรดกโลก (World Heritage Convention) ในปี ค.ศ. 1972 ในขณะที่แนวคิดเรื่องการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองนั้นกำลังเอาชนะคะคานกันด้วยเหตุผลของการเติบโตทางเศรษฐกิจและเหตุผลของความสมดุลย์ทางทรัพยากร มรดกทางวัฒนธรรมเองถูกวางตัวให้เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่เหมาะสมและยั่งยืน หลังจากการประชุมที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร และมีการประกาศวาระแห่งศตวรรษที่ 21 (Agenda 21) ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน กระบวนการวางแผนอนุรักษ์ที่บูรณาการเข้ากับกระบวนการด้านผังเมืองและแผนพัฒนาเมือง ได้มีนัยยะสำคัญเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้ามาด้วย ผนวกกับแนวคิดด้านการอนุรักษ์ภูมิทัศน์วัฒนธรรม ดังตัวอย่างหนึ่งจากการประชุม Conservation and Urban Sustainable Development: A Theoretical Framework ณ ประเทศบราซิล ซึ่งให้ความสำคัญกับ “การอนุรักษ์อย่างบูรณาการ (Integrated Conservation)” อย่างไรก็ดีการพัฒนาเมืองนั้นมีพลวัตสูง ทำให้เมืองประวัติศาสตร์หลายแห่งได้ถูกอิทธิพลของการพัฒนาด้วยสถาปัตยกรรมร่วมสมัยเข้าคุกคาม คณะกรรมการวิชาการด้านหมู่บ้านและเมืองประวัติศาสตร์ของอิโคโมสจึงได้ผลักดันให้มีการประชุมว่าด้วย World Heritage and Contemporary Architecture-Managing the Historic Urban Landscape ที่กรุงเวียนนา ในปี 2005 นับเป็นการผสานการมองเมืองประวัติศาสตร์ด้วยแนวคิดภูมิทัศน์วัฒนธรรม จนมาเป็นเอกสาร “บันทึกแห่งกรุงเวียนนา (Vienna Memorandum)” ว่าด้วยแนวคิด “ภูมิทัศน์เมืองประวัติศาสตร์ (Historic Urban Landscape)” และล่าสุดกับหลักการแห่ง Valletta ว่าด้วยการปกป้องและบริหารจัดการเมืองและย่านชุมชนประวัติศาสตร์ (The Valletta Principles for the Safeguarding and Management of Historic Cities, Towns and Urban Areas) ในปี ค.ศ. 2011 โดยเน้นที่การดำรงอยู่ร่วมกันขององค์ประกอบทางกายภาพและไม่ใช่กายภาพภายใต้บริบทแวดล้อมที่แตกต่างกันในเมืองและย่านชุมชนประวัติศาสตร์ รวมไปถึงการทำความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ และกระบวนการแทรกแซงที่เหมาะสม
เมืองประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช ผ่านพัฒนาการมาหลายยุคสมัย แต่ละสมัยได้สั่งสม ถ่ายทอด และแสดงออกซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมจากยุคสมัยต่าง ๆ ตกทอดมาถึงปัจจุบัน เคียงคู่กับวิถีชีวิตประจำวันของผู้คน มีการใช้งาน คึกคัก หลากหลาย เป็นพื้นที่ที่เป็น “เมือง” อย่างแท้จริง คำถามซึ่งบทความชิ้นนี้พยายามจะอธิบายให้เห็นภาพรวมของพื้นที่ที่ถูกเรียกว่าเมืองแห่งนี้ คือ ความสมดุลของการอนุรักษ์และการพัฒนา กับความเป็นไปอย่างปรกติของภูมิทัศน์แห่งชีวิตประจำวัน เพื่อความเป็นเมืองที่มีผู้คนอาศัยอยู่นั้น จะมีทิศทางและประกอบไปด้วยมิติต่าง ๆ อย่างไร ตามเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน