งานวิจัยและบทความ

การฟื้นฟูวัฒนธรรมดนตรีในภาวะวิกฤตของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา

โดย นันธิดา จันทรางศุ, เรวดี อึ้งโพธิ์

เผยแพร่เมื่อ 27 พฤษภาคม 2024

การอนุรักษ์และสงวนรักษามรดกวัฒนธรรม, ดนตรี, ชาติพันธุ์
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ

วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. 11, 2 (ธ.ค. 2019), 199–222.


การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อพัฒนาชุดความรู้วัฒนธรรมดนตรีกลุ่มชาติพันธุ์มอแกนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา และสร้างความตระหนักในการรักษามรดกทางวัฒนธรรมดนตรีกับเยาวชนมอแกน และ 2) เพื่อเสนอแนวทางการมีส่วนร่วมของภาคเครือข่ายในการฟื้นฟู อนุรักษ์ และต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมดนตรีมอแกนอย่างยั่งยืน โดยผสมผสานวิธีวิจัยทางมานุษยวิทยาดนตรี ได้แก่ การเก็บข้อมูลวัฒนธรรมดนตรี การสังเกตอย่างมีส่วนร่วม และการสัมภาษณ์เจาะลึกผู้ให้ข้อมูลหลักจำนวน 5 คน ควบคู่การศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และวิธีวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมระหว่างนักวิจัย ชาวมอแกน เจ้าหน้าที่อาสาสมัคร และภาคีเครือข่ายในการจัดกิจกรรมฟื้นฟูวัฒนธรรมดนตรีในภาวะวิกฤต ผลการวิจัยมีดังนี้ 1) ชุดความรู้วัฒนธรรมดนตรีมอแกนเพื่อการฟื้นฟู ได้แก่ ชุดความรู้วัฒนธรรมดนตรีมอแกนและชุดความรู้ด้านเครื่องดนตรีก่าติ้ง นอกจากนี้ยังเกิดเยาวชนนักดนตรีมอแกนรุ่นใหม่จำนวน 9 คน 2) แนวทางและวิธีการดำเนินงานเพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม ได้แก่ 1) การค้นหาตัวแทนชุมชนและภาคีเครือข่ายเข้าร่วมกระบวนการฟื้นฟู 2) การกำหนดเป้าหมายการมีส่วนร่วมและบทบาทผู้เข้าร่วม 3) การศึกษาผลสะท้อนกลับและการทบทวนหลังปฏิบัติงาน และ 4) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลของกระบวนการฟื้นฟูและสืบทอดดนตรีมอแกนกับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลกลุ่มอื่น ๆ ข้อเสนอแนะด้านการฟื้นฟูวัฒนธรรมดนตรี ควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของเยาวชนเพราะเป็นบุคคลสำคัญในการสืบสานวัฒนธรรมต่อไป ควรพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมดนตรีของชาวมอแกนอย่างยั่งยืนทั้งในระดับปฏิบัติการและระดับนโยบาย