งานวิจัยและบทความ

จินตนาการจากนิทานพื้นบ้านชาติพันธุ์ม้ง

โดย ปิยฉัตร อุดมศรี

เผยแพร่เมื่อ 27 พฤษภาคม 2024

ภาษาและวรรณกรรม, ชาติพันธุ์
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ

วารสารวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (JOFA), ปีที่ 12 ฉบับที่ 2 (2021): กรกฎาคม - ธันวาคม 2564


นิทานพื้นบ้านชาติพันธุ์ม้งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่สามารถเรียนรู้โลกทัศน์จินตนาการความคิด ทัศนคติของชาวม้งที่สืบทอดคำสอน และความเชื่อ สืบต่อกันมาสู่รุ่นต่อรุ่น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องการอพยพหาพื้นที่ทำกิน เรื่องการเกิดโรคระบาด เรื่องการศึกษาและเรื่องการค้าขาย ทำให้ชาวม้งคนรุ่นใหม่หลงลืมมรดกทางวัฒนธรรม การที่กลับไปทบทวนนิทานพื้นบ้านของชาวม้ง จึงเท่ากับการรื้อฟื้นความหมายของความทรงจำเหล่านั้นให้มีชีวิตเชื่อมโยงใกล้ชิดกับผู้คนในยุคปัจจุบัน เพื่อชาวม้งคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะได้เกิดความภาคภูมิใจในภูมิปัญญา และเล็งเห็นคุณค่าการสำนึกอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมนั้นไว้เพื่อคนรุ่นหลังต่อไป การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา สังคมและวัฒนธรรมของชุมชนชาวม้ง รวมทั้งแนวความคิดและภูมิปัญญาในด้านต่าง ๆ ตลอดจนศึกษานิทานพื้นบ้านชาติพันธุ์ม้ง ในชุมชนชาวม้งที่หมู่บ้านแม่สาใหม่และหมู่บ้านแม่สาน้อย ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ทำการวิเคราะห์สังเคราะห์เพื่อการสร้างสรรค์ศิลปะสื่อผสมอย่างมีส่วนร่วมของเยาวชนในชุมชน โดยมีแรงบันดาลใจจากจินตนาการเรื่องเล่าหรือนิทานพื้นบ้านชาวม้ง เพื่อกระตุ้นสร้างสำนึกอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวม้ง มีลักษณะงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ศิลปะ ใช้วิธีการศึกษาในรูปแบบสหวิทยาการ นำเสนอผลการศึกษาในรูปแบบพรรณนาและเสนอผลงานการสร้างสรรค์ศิลปะ

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ศึกษาพบข้อมูลของนิทานพื้นบ้านชาติพันธุ์ม้งของหมู่บ้านแม่สาใหม่และหมู่บ้านแม่สาน้อย ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 9 เรื่อง แล้วทำการเลือกสรรนิทานพื้นบ้านชาติพันธุ์ม้งจากเยาวชนชุมชนม้งเป็นผู้เลือก โดยใช้หลักมนุษย์เป็นศูนย์กลาง นำมาจัดกลุ่มความสัมพันธ์ของนิทานพื้นบ้านชาติพันธุ์ม้งได้ แบ่งได้ 3 ประการดังนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ จึงเลือกสรรนิทานพื้นบ้านชาติพันธุ์ม้งได้ 3 เรื่อง (จากนิทานพื้นบ้านชาติพันธุ์ม้ง 9 เรื่อง) เพื่อนำมาสู่กระบวนการการลงพื้นที่ทำกิจกรรมศิลปะร่วมกับเยาวชนชุมชนม้ง หมู่บ้านแม่สาใหม่และหมู่บ้านแม่สาน้อย ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จากผลของกิจกรรมผู้ศึกษาทำการสังเคราะห์ลายเส้นของเยาวชนชุมชนม้งผนวกกับจินตนาการของผู้ศึกษา ออกมาเป็นผลงานศิลปะสื่อผสมอย่างมีส่วนร่วมกับเยาวชนชุมชนม้ง โดยสร้างสรรค์จากเทคนิควัสดุธรรมชาติที่อยู่ในวิถีชีวิตชุมชนม้ง นำเสนอในรูปแบบนิทรรศการศิลปะสื่อผสม ที่มีการจัดวางศิลปะให้เยาวชนชุมชนม้งและผู้สนใจในงานศิลปะ สามารถมีส่วนร่วมกับผลงานสร้างสรรค์ที่จัดแสดงขึ้นในครั้งนี้