งานวิจัยและบทความ

การจัดทำแผนที่ทรัพยากรทางวัฒนธรรมในเขตพื้นที่เมืองเก่า จังหวัดเชียงราย

โดย นครินทร์ น้ำใจดี

เผยแพร่เมื่อ 27 พฤษภาคม 2024

เมืองเก่า, การจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ

วารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, ปีที่ 16 ฉบับที่ 1 (2022): January - April 2022


การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในเขตย่านเมืองเก่าเชียงราย และ 2) เพื่อสำรวจและจัดทำแผนที่แหล่งทรัพยากรทางวัฒนธรรมในเขตย่านเมืองเก่าเชียงราย โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ควบคู่กับระเบียบวิจัยเชิงปริมาณ การสำรวจทางกายภาพ และจัดทำแบบประเมินที่ใช้มาตราวัดแบบลิเคิร์ท การสัมภาษณ์เชิงลึก ได้แก่ เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองเชียงราย กลุ่มลูกหลานเจ้านายเมืองเชียงราย ปราชญ์ชาวบ้านและนักวิชาการท้องถิ่น จำนวน 18 คน การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การนำข้อมูลจากเอกสาร ข้อมูลจากภาคสนาม มาวิเคราะห์ประมวลผลและวิเคราะห์เชิงคุณภาพ เพื่อรวบรวมข้อมูลพื้นฐานด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และความสำคัญของแหล่งทรัพยากรวัฒนธรรม

ผลการวิจัยพบว่า 1) ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นย่านเมืองเก่าเชียงราย 4 ช่วง ช่วงที่ 1 เมืองเชียงรายในยุคราชวงศ์มังราย (พ.ศ.1805-พ.ศ.2347), ช่วงที่ 2 การฟื้นม่านสู่การกำเนิดเมืองเชียงรายในยุครัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2386 - พ.ศ.2441), ช่วงที่ 3 เชียงรายในยุคการปฏิรูปมณฑลเทศาภิบาลและการเติบโตของชุมชนเมือง (พ.ศ.2442-2475), ช่วงที่ 4 ชุมชนเมืองเชียงรายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่เมืองเชียงรายยุคปัจจุบัน(พ.ศ.2475-ปัจจุบัน), 2) ผลการสำรวจภาพรวมแหล่งทรัพยากรวัฒนธรรม ทั้งหมดจำนวน 981 แห่ง ประเมินและคัดเลือกแหล่งทรัพยากรทางวัฒนธรรมสำคัญในการจัดทำแผนที่ 51 แห่ง ได้แก่ 1) วัดและศาสนสถาน 11 แห่ง 2) กำแพงเมืองและคูเมือง 12 แห่ง 3) พิพิธภัณฑ์ และลานกลางเมือง 3 แห่ง 4) อาคารราชการและสถานศึกษา 6 แห่ง 5) จุดหมายตาของเมือง 1 แห่ง 6) แหล่งมรดกความทรงจำ และภูมิปัญญาท้องถิ่น 10 แห่ง 7) อาคารที่สัมพันธ์กับคริสตจักร 3 แห่ง 8) ย่านวัฒนธรรม และการค้า 5 ย่าน