งานวิจัยและบทความ
บ้านวิชาเยนทร์ ลพบุรี ค.ศ. 1683-1688: การศึกษารูปแบบสันนิษฐาน
โดย พินัย สิริเกียรติกุล , สิริเดช วังกรานต์
เผยแพร่เมื่อ 30 พฤษภาคม 2024
สถาปัตยกรรม, โบราณคดี, ประวัติศาสตร์
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ
บทความนี้เป็นการสรุปย่อจากงานวิจัยการศึกษารูปแบบสันนิษฐานของบ้านวิชาเยนทร์ โดยศึกษาการเปลี่ยนแปลงของบ้านวิชาเยนทร์ระหว่างปี ค.ศ. 1683-1688 อันเป็นช่วงเวลาเมื่อคอนสแตน ฟอลคอน (Constans Phaulkon) ได้ย้ายเข้ามาพำนักอาศัยจนกระทั่งถูกประหารชีวิต ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ครอบคลุมเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ได้แก่ การขึ้นสู่อำนาจในราชสำนักของฟอลคอน การเดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีของคณะทูตฝรั่งเศส และเหตุการณ์การปฏิวัติที่นำโดยออกพระเพทราชา
บทความมุ่งศึกษาว่าซากโบราณสถานของบ้านวิชาเยนทร์ที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันนั้น สามารถสะท้อนสภาพทางการเมืองและชีวิตในช่วง 5 ปีสุดท้ายของฟอลคอนที่เจริญก้าวหน้าถึงขีดสุดกระทั่งตกต่ำจนต้องถูกประหารชีวิตได้อย่างไรบ้าง หลักฐานที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ได้แก่ บันทึกชาวต่างชาติ รายงานการขุดค้นทางโบราณคดี และการตรวจสอบโบราณสถานทั้งโดยวิธีการสำรวจรังวัดและการตรวจสอบด้วยสายตา ซึ่งจากการศึกษาสามารถแบ่งพัฒนาการการก่อสร้างบ้านวิชาเยนทร์ออกได้เป็น 3 ยุค คือ ยุคแรก ก่อนปี ค.ศ. 1683 เป็นสมัยที่ยังเป็นบ้านพ่อค้าเปอร์เซียก่อนที่ฟอลคอนจะย้ายเข้ามาพำนัก, ยุคที่สอง ระหว่างปี ค.ศ. 1683-1685 ภายหลังที่ฟอลคอนย้ายเข้ามาและได้มีการปรับปรุงต่อเติมเพื่อการอยู่อาศัยของตนเอง และเพื่อรับรองคณะราชทูตฝรั่งเศสเชอวาลิเยร์ เดอ โชมองต์ (Chevalier de Chaumont) ที่เดินทางเข้ามาในปี ค.ศ. 1685 และ ยุคที่สาม หลังจากปี ค.ศ. 1685 ถึง ค.ศ. 1688 คาบเกี่ยวช่วงเวลาที่คณะผู้แทนพระองค์พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่นำโดยซิมง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de La Loubère) เดินทางมาถึงในปี ค.ศ. 1687 จนถึงปีที่พระเพทราชาก่อการปฏิวัติ การเปลี่ยนแปลงในช่วง 5 ปีสุดท้ายของบ้านหลังนี้สามารถสะท้อนถึงสถานะพิเศษของฟอลคอนทั้งในฐานะที่ปรึกษาคนสนิทของสมเด็จพระนารายณ์ และในฐานะหัวหน้าประชาคมชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี ผลการศึกษาพบว่า สถาปัตยกรรมภายในบ้านวิชาเยนทร์ประกอบด้วยรูปแบบทางศิลปะและสถาปัตยกรรมหลากหลายที่มา ไม่ว่าจะเป็น สถาปัตยกรรมมัวร์ สถาปัตยกรรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และสถาปัตยกรรมยุโรปสมัยกอธิค ตลอดจนการประดับตกแต่งด้วยภาพเขียนศิลปะญี่ปุ่น และการใช้หินมีค่าจากชมพูทวีป ลักษณะผสมผสานเหล่านี้เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่สะท้อนภาพความเป็นพหุวัฒนธรรมของสังคมอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์