งานวิจัยและบทความ

มองความหมาย "มรดกทางวัฒนธรรม" ผ่านพื้นที่พิพิธภัณฑ์ กรณีการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน
โดย อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล
เผยแพร่เมื่อ 3 เมษายน 2024
พิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุ
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ
วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ปีที่ 12 ฉบับที่ 1 (2012): มกราคม-มิถุนายน 2555
บทความนี้ศึกษาการนิยามความหมายให้กับอดีตลำพูน เพื่อพยายามทำความเข้าใจว่าเรื่องเล่าในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ในท้องถิ่นได้สะท้อนความคิดหรือการรับรู้ของผู้คนต่ออดีตลำพูนในลักษณะใดบ้าง โดยศึกษาจากพิพิธภัณฑ์ในลำพูน 4 แห่ง คือ (1) พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หริภุญไชย (2) พิพิธภัณฑ์ ชุมชนเมืองลำพูน (3) พิพิธภัณฑ์บริขารพระครูบาเจ้าศรีวิชัย และ (4) พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดต้นแก้ว ผลการศึกษาพบว่าแม้การรับรู้ต่ออดีตที่ปรากฏอยู่ในพิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งจะให้น้ำหนักกับเหตุการณ์และช่วงเวลาที่แตกต่างกันออกไป แต่มีข้อค้นพบถึงความสัมพันธ์ระหว่างเบื้องหลังวิธีคิดกับการรับรู้ต่ออดีตและการนิยามถึงมรดกทางวัฒนธรรมในแต่ละพิพิธภัณฑ์อยู่ 2 ประการ คือ
1) การรับรู้ต่ออดีตในพิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งแสดงถึงการปะทะกันของสำนึกทางประวัติศาสตร์ 2 ด้าน ด้านหนึ่งมองลำพูนในฐานะการเป็นส่วนหนึ่งของชาติ โดยเฉพาะภายใต้กรอบทางประวัติศาสตร์ที่มีศูนย์กลางจากชาติ/ส่วนกลาง ในขณะที่อีกด้านหนึ่งคือสำนึกของท้องถิ่นที่พยายามเสนอมุมมองและการอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตจากฝ่ายของท้องถิ่น
2) การนิยามเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมในพิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างให้กับท้องถิ่นที่จะเสนอ “อดีต” ที่ท้องถิ่นเห็นว่าสำคัญ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเสนออดีตแบบเดียวกับที่ชาติเสนอหรือให้คุณค่า กระนั้นพื้นที่ดังกล่าวก็ไม่ได้เข้าลักษณะของทวิลักษณ์ระหว่าง ชาติ-ท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังขยายไปสู่มิติที่สัมพันธ์กับบริบทและเงื่อนไขทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจในปัจจุบันด้วยเช่นกัน อาทิการท่องเที่ยว การเมืองท้องถิ่น นโยบายของรัฐ และชาติพันธุ์