งานวิจัยและบทความ

สัญญาณแห่งการฟื้นคืนชีวิตของภูมิทัศน์วัฒนธรรมของหมู่บ้านในภูเขาของญี่ปุ่น

โดย วิมลรัตน์ อิสระธรรมนูญ

เผยแพร่เมื่อ 14 มิถุนายน 2024

ภูมิทัศน์วัฒนธรรม
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ

วารสารหน้าจั่ว ว่าด้วยสถาปัตยกรรม การออกแบบ และสภาพแวดล้อม, ปีที่ 25 (2011): กันยายน 2553 - สิงหาคม 2554 /


การศึกษานี้แสดงให้เห็นวัฒนธรรมของหมู่บ้านในพื้นที่ภูเขาของประเทศญี่ปุ่นที่มีวิถีชีวิต และระเบียบปฏิบัติในการอยู่อาศัยร่วมกับสภาพแวดล้อม จนเกิดเป็นภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่เรียกว่า “ภูมิทัศน์ซะโตะยะมะ” กรณีศึกษาหมู่บ้านมุคุกะวะ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นนํ้าของทะเลสาบบิวะโคะ (Biwako Lake) ชี้ให้เห็นถึงปรากฏการณ์ “หมู่บ้านถูกทิ้งร้าง” ในประเทศญี่ปุ่น จากการละทิ้งถิ่นฐานและละเลยพื้นที่เกษตรกรรมตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงปัจจุบันส่งผลให้ภูมิปัญญาในจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลสูญหายไป จนทำให้ภูมิทัศน์วัฒนธรรมของหมู่บ้านค่อยๆ สูญหายไปด้วย อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ที่เป็นอยู่ หมู่บ้านมุคุกะวะแสดงให้เห็นถึงสัญญาณของการฟื้นชีวิตของภูมิทัศน์วัฒนธรรม โดยสัญญาณที่ปรากฏเด่นชัดคือ การสร้างสรรค์ระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชนและการแลกเปลี่ยนแรงงานในหมู่บ้านแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า ระบบยุอิ ขึ้นมาใหม่ซึ่งช่วยสร้างเสริมกระบวนการผลิตฟื้นฟูวิถีชีวิต สร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในชุมชน ตลอดจนรักษาอัตลักษณ์ของหมู่บ้าน

หัวใจของระบบใหมที่สามารถเป็นแนวทางให้กับพื้นที่หมู่บ้านในชนบทแห่งอื่น คือการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่คนรุ่นใหม่ แต่ปรับเปลี่ยนแนวคิดและระเบียบปฏิบัติให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน มีการเปิดชุมชนที่เคยมีการรวมกลุ่มอย่างเหนียวแน่น ให้เปิดรับคนเข้ามาอยู่ใหม่ซึ่งเป็นผู้ที่นำแนวคิดใหม่เข้ามา และช่วยเหลือด้านแรงงานในชุมชนที่กำลังอยู่ในภาวะขาดแคลน รวมถึงการเปิดรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกมากขึ้น จากการดำเนินงานที่ผ่านมา สิ่งที่ชาวบ้าน องค์กรชุมชนและภาครัฐควรดำเนินการต่อไป คือการสร้างโครงข่ายระหว่างหมู่บ้านและหมู่บ้านกับเมือง เพื่อรักษาระเบียบปฏิบัติของหมู่บ้านที่ยังคงเหลืออยู่ นอกจากนี้ โครงการภาครัฐในปัจจุบัน ทั้งการขึ้นทะเบียนภูมิทัศน์วัฒนธรรมพื้นที่ที่มีคุณค่าสูงสุด และโครงการอนุรักษ์พื้นที่ภูมิทัศน์ซะโตะยะมะในพื้นที่หมู่บ้านบนภูเขาของญี่ปุ่นที่มีอยู่โดยทั่วไปควรได้รับการดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป