งานวิจัยและบทความ
การจัดการภูมิทัศน์วัฒนธรรมในฐานะเครื่องมือในการสร้างความยั่งยืนและความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงของชุมชน
โดย วิมลรัตน์ อิสระธรรมนูญ
เผยแพร่เมื่อ 14 มิถุนายน 2024
ภูมิทัศน์วัฒนธรรม
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ
วารสารหน้าจั่ว ว่าด้วยสถาปัตยกรรม การออกแบบ และสภาพแวดล้อม, ปีที่ 32 (2017): มกราคม - ธันวาคม 2560
การศึกษานี้ต้องการที่จะทำความเข้าใจถึงกระบวนการการแปรเปลี่ยนของภูมิทัศน์วัฒนธรรม (cultural landscape transformation) โดยพิจารณาประกอบกับความเข้าใจในเรื่องความยืดหยุ่นของชุมชน (community resilience) ต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของโลกกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) ชุมชน 3 แห่งจากประเทศในทวีปเอเชีย 3 ประเทศ ที่ได้รับเลือกมาเป็นกรณีศึกษาประกอบด้วย มุกุกะวะ หมู่บ้านในพื้นที่สูงในประเทศญี่ปุ่น คีรีวง หมู่บ้านในภูเขาทางภาคใต้ของประเทศไทย และ ดูระ หมู่บ้านชาวประมงขนาดเล็กแห่งหนึ่งในหมู่เกาะบาตาเนส ประเทศฟิลิปปินส์
กรณีศึกษาทั้งสามแห่งแสดงให้เห็นว่า การจัดการภูมิทัศน์วัฒนธรรมอยู่บนฐานของชุดความรู้ในท้องถิ่น ภูมิทัศน์วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ไม่อยู่นิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จากผลกระทบอันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงในระดับต่างๆ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ส่งผลให้ชุมชนได้มีบทบาทสำคัญในการจัดการโครงสร้างทางกายภาพในลักษณะของการใช้พื้นที่ รวมไปถึงการจัดการทรัพยากรด้านต่างๆ ในการนี้ กลุ่มองค์กรในชุมชนได้มีการปรับใช้ความรู้ในท้องถิ่นผสมผสานเข้ากับความรู้จากภายนอก จากนั้นจึงมีการสร้างชุดความรู้ขึ้นใหม่ โดยอาศัยรากฐานจากทรัพยากรทางวัฒนธรรมและทรัพยากรทางสังคม
ในการที่จะสร้างการจัดการพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นจะต้องมีการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างกลุ่มองค์กร ตลอดจนเชื่อมต่อกลุ่มองค์กรในชุมชนกับองค์กรภายนอก โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร กรณีศึกษาทั้งสามแห่งชี้ให้เห็นว่า การจัดการภูมิทัศน์วัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์นั้น ก่อให้เกิดผลดีกับการสร้างความยืดหยุ่นของชุมชนต่อการฟื้นตัว และการปรับตัวจากความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในขณะที่การจัดการความเปลี่ยนแปลงอย่างเหมาะสม ช่วยให้เกิดความมั่นใจว่าจะเกิดความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม-วัฒนธรรม และระบบนิเวศ อันจะนำไปสู่สภาวะแห่งความยั่งยืนต่อไป