งานวิจัยและบทความ
การวิเคราะห์ใหม่: สถาปัตยกรรมพระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
โดย โชติมา จตุรวงศ์, วราภรณ์ สุวัฒนโชติกุล , เสนอ นิลเดช
เผยแพร่เมื่อ 14 มิถุนายน 2024
สถาปัตยกรรม
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ
วารสารหน้าจั่ว ว่าด้วยสถาปัตยกรรม การออกแบบ และสภาพแวดล้อม, VOL. 30 (2016): มกราคม - ธันวาคม 2559
พระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับการยกย่องว่าเป็นสถาปัตยกรรมศรีวิชัยเพียงแห่งเดียวของไทยที่ยังคงความสมบูรณ์และงดงามที่สุด แม้ไม่มีหลักฐานว่าอาคารดังกล่าวสร้างขึ้นในสมัยใดหรือผ่านการซ่อมแปลงมาแล้วกี่ครั้ง แต่ด้วยองค์ประกอบสำคัญทางสถาปัตยกรรม อันได้แก่ “สถูปเจดีย์” ที่ประดับอยู่บนชั้นหลังคาแต่ละชั้น เช่นเดียวกับที่พบใน “จันทิ” สถาปัตยกรรมศรีวิชัยของราชวงศ์ไศเลนทร์ในชวาภาคกลาง ประเทศอินโดนีเซีย จึงเกิดข้อสรุปในทางวิชาการตรงกันว่า พระบรมธาตุไชยาถูกสร้างขึ้นด้วยศิลปะศรีวิชัยในพุทธศตวรรษที่ 14-15 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการก่อสร้างสถาปัตยกรรมวัดเวียง วัดหลงและวัดแก้ว เมืองไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีและจันทิกะลาสัน ชวาภาคกลาง ประเทศอินโดนีเซีย ในการศึกษานี้จะชี้ให้เห็นว่า “พระบรมธาตุไชยา” น่าจะถูกสร้างขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-13 ด้วยรูปแบบศิลปะจามแห่งอาณาจักรจามปา และสันนิษฐานว่าต่อมาได้ถูกปรับแปลงใหม่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-15 ภายใต้ความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมศรีวิชัย โดยเพิ่มองค์ประกอบที่เป็นสถูปเจดีย์บนชั้นหลังคาทุกชั้นรวมทั้งบนยอดสูงสุดของอาคาร เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการก่อสร้างสถาปัตยกรรมวัดเวียง วัดหลง และวัดแก้ว บนพื้นที่เมืองไชยา
นอกจากนี้ เมื่อทำการศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรมของพระบรมธาตุไชยา ด้วยวิธีวิทยาทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ควบคู่ไปกับการศึกษาหลักฐานด้านอื่นๆ อาทิ จารึก จดหมายเหตุจากจีน และศิลปวัตถุ ผ่านกรอบความคิดของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์วัฒนธรรม ได้นำมาสู่ข้อสันนิษฐานใหม่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศรีวิชัยในเมืองไชยาว่า “ก่อนที่ไชยาจะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมศรีวิชัยในพุทธศตวรรษที่ 14 นั้น พื้นที่แห่งนี้น่าจะเคยได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอาณาจักรจามปามาก่อน โดยมีหลักฐานคือพระบรมธาตุไชยาก่อนที่จะถูกซ่อมแปลงในสมัยที่ร่วมกับวัฒนธรรมศรีวิชัย เป็นประจักษ์พยานสำคัญ”