งานวิจัยและบทความ
ตู้พระธรรมวัดบ้านเก่า ศิลปกรรมและจารึกชิ้นสำคัญของลุ่มน้ำระยองสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
โดย ประภัสสร์ ชูวิเชียร
เผยแพร่เมื่อ 14 มิถุนายน 2024
ศิลปกรรม
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ
วารสารศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (2023): July-December 2023
วัดบ้านเก่า อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เป็นวัดโบราณในลุ่มน้ำระยองที่มีศิลปกรรมสำคัญจำนวนมาก หนึ่งในนั้นจากการสำรวจได้พบตู้พระธรรมลายทอง มีจารึกฐานตู้ระบุว่าสมภารวัดบ้านเก่าสร้างขึ้นตรงกับวันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2333 สมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ลายรดน้ำประดับฝาตู้เป็นภาพทศชาติชาดก และผนังตู้เป็นภาพการปลงอศุภกรรมฐานและภาพป่าหิมพานต์ที่เชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องอุเทนชาดก ซึ่งโครงสร้างภาพดังกล่าวคล้ายกับตู้พระธรรมบางใบในสมัยกรุงธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ ฝีมือการวาดมีลักษณะประณีตแต่บางจุดมีความเป็นพื้นถิ่น เทคนิคการเล่าเรื่องลำดับตามแนวตั้งของตู้ ตัวละครค่อนข้างใหญ่ มีรายละเอียดของภาพมากขึ้น ใช้ทิวทัศน์ โขดเขา พรรณไม้เป็นเส้นแบ่งฉากเรื่องออกจากกันโดยไม่ปรากฏเส้นสินเทา มีความพิเศษในการเลือกภาพเล่าชาดกบางเรื่องเช่นมโหสถชาดกตอนสนทนากับนางอมรเทวีซึ่งต่างจากจิตรกรรมแห่งอื่น ๆ บทความนี้มีจุดประสงค์ที่จะวิเคราะห์รูปแบบศิลปกรรมของตู้พระธรรมใบดังกล่าวร่วมกับข้อความจารึกฐานตู้เพื่อประกอบร่วมเป็นหลักในการศึกษารูปแบบงานศิลปกรรมและจิตรกรรมในระยะแรกเริ่มของศิลปะรัตนโกสินทร์ที่ปรากฏในหัวเมือง รวมทั้งยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญที่ยืนยันการมีตัวตนของชุมชนในลุ่มน้ำระยองที่สืบจากสมัยอยุธยาลงมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 ชัดเจนมากขึ้น