งานวิจัยและบทความ

ทุนทางมรดกทางวัฒนธรรมกับการเป็นเมืองเก่าที่มีชีวิตของจังหวัดน่าน

โดย ภัทรีพันธุ์ พันธุ

เผยแพร่เมื่อ 3 เมษายน 2024

การจัดการมรดกวัฒนธรรม, เมืองเก่า
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ

วารสารวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่, ปีที่ 6 ฉบับที่ 6 (2014): ปีที่ 6 ฉบับที่ 6 กรกฎาคม-สิงหาคม 2557


การศึกษาวิจัย “ทุนทางมรดกทางวัฒนธรรมกับการเป็นเมืองเก่าที่มีชีวิตของจังหวัดน่าน” มีวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ (1) เพื่อศึกษาและรวบรวมมรดกทางวัฒนธรรมในจังหวัดน่าน (2) เพื่อประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการจัดระบบฐานข้อมูลมรดกทางวัฒนธรรม จังหวัดน่าน (3) เพื่อนำฐานข้อมูลมรดกทางวัฒนธรรมมาเผยแพร่ผ่านสื่อที่เหมาะสม เป็นการวิจัยแบบผสมผสานวิธีวิทยาวิจัยเชิงสำรวจและวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยวิธีการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นจากการเก็บข้อมูลภาคสนามและพิกัดทางภูมิศาสตร์ในแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในขอบเขตของพื้นที่ที่กำหนด แล้วจึงนำข้อมูลที่ได้มาจัดประเภทและกลุ่มของสิ่งก่อสร้างที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม จากนั้นจึงนำข้อมูลมาทำแผนที่ดาวเทียม และนำผลการวิจัยเผยแพร่ในเว็บไซต์ งานวิจัยนี้ดำเนินการในขอบเขตพื้นที่ตัวอย่างในอำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ผู้ที่เข้าร่วมการวิจัยนี้ประกอบด้วย ตัวแทนชุมชนที่อยู่ในเขตเมืองเก่าจำนวน 30 ชุมชน กลุ่มฮักเมืองน่าน วัฒนธรรมจังหวัดน่าน กรมศิลปากร เทศบาลเมืองน่าน องค์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน และปราชญ์ชาวบ้าน ใช้เครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบสำรวจแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม กล้องบันทึกภาพ โปรแกรมระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และเครื่องระบุตำแหน่งพิกัดบนพื้นโลก การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีตามแนวคิดหลักการโบราณคดีชุมชน และแยกประเภทสิ่งก่อสร้างที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม แล้วจึงป้อนข้อมูลในโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อประมวลผลในแผนที่ดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์ความหนาแน่นของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม โดยมีการตรวจสอบความถูกต้องของพิกัดด้วยการนำไปใช้จริง และจึงเผยแพร่ข้อมูลในเว็บไซต์

ผลการศึกษาพบว่า สามารถรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่ปรากฏในเขตเมืองน่าน และได้จัดแบ่งออกมาเป็น 4 กลุ่ม คือ (1) วัด (2) องค์ประกอบประดับเมือง (3) คุ้ม (4) เรือนพื้นถิ่นซึ่งสามารถตอบวัตถุประสงค์ของงานวิจัยข้อที่ 1 ในการศึกษา และรวบรวมมรดกทางวัฒนธรรมในจังหวัดน่านได้ และจากผลการศึกษาข้างต้นสามารถตอบวัตถุประสงค์ข้อ 2 ในการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการจัดระบบฐานข้อมูลมรดกทางวัฒนธรรม จังหวัดน่านโดยการนำเอาแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้เก็บพิกัดภูมิศาสตร์มาระบุลงในแผนที่ดาวเทียม ซึ่งสามารถเห็นการกระจายตัวหรือการกระจุกตัวของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมได้ชัดเจนมากขึ้น โดยวัตถุประสงค์ข้อนี้ทำให้เกิดเป็นฐานข้อมูลเบื้องต้นในการวิเคราะห์พื้นที่การใช้งานของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในเขตเมืองน่านจากวัตถุประสงค์ข้อที่ 1 และ 2 ได้นำผลการศึกษามาใช้เป็นฐานข้อมูลในการเผยแพร่ผ่านสื่อที่เหมาะสมซึ่งสามารถตอบวัตถุประสงค์ข้อที่ 3 คือเป็นการนำเอาฐานข้อมูลที่ได้จัดทำไว้มาจัดมาเผยแพร่ในรูปแบบของแผนที่ออนไลน์ โดยเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของ Google Maps ซึ่งเป็นแผนที่ที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้งานง่าย นอกจากนั้น ยังมีรูปแบบที่ดึงดูดผู้ใช้งานเป็นอย่างมาก ซึ่งก็คือแผนที่และภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูง เพื่อให้สามารถสืบค้นข้อมูลเบื้องต้น หรือวางแผนการเดินทางล่วงหน้าได้ โดยสามารถใช้งานได้ที่เว็บไซต์ www.social.crru.ac.th/nan ซึ่งแผนที่ออนไลน์นี้สามารถระบุเส้นทางในการเดินทางไปยังแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมต่างๆ ที่อยู่ในเขตเมืองน่าน รวมทั้งมีภาพแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและข้อมูลที่น่าสนใจ