งานวิจัยและบทความ
การศึกษาคุณค่าบ้านไม้พื้นถิ่นเชียงคานเพื่อการอนุรักษ์ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม
โดย ธิป ศรีสกุลไชยรัก
เผยแพร่เมื่อ 14 มิถุนายน 2024
สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ
วารสารวิชาการ การออกแบบสภาพแวดล้อม, ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 (2018)
บ้านไม้พื้นถิ่นถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและทรัพยากรการท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์ของเชียงคาน แต่ในขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาบ้านไม้เก่าถูกขายให้กับนายทุนต่างถิ่น บางหลังโดนรื้อทิ้งเพื่อสร้างอาคารรูปแบบใหม่ บางหลังถูกปรับเปลี่ยนการใช้งาน ทำให้เกิดการทำลายทุนทางวัฒนธรรมของตนเองอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นอกจากนี้ยังขาดวิธีการสื่อสารคุณค่าของบ้านไม้พื้นถิ่นให้ทั้งนักท่องเที่ยวรวมถึงคนในชุมชนเองได้รับรู้ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาเยือนเชียงคานเพียงเพื่อถ่ายรูปกับบ้านเก่าแล้วก็กลับโดยไม่ได้เรียนรู้คุณค่าแท้ของเชียงคาน สถานการณ์เช่นนี้จะนำไปสู่การล่มสลายของวัฒนธรรมและการเป็นแหล่งท่องเที่ยว การศึกษาคุณค่าบ้านไม้พื้นถิ่นเชียงคานเพื่อการอนุรักษ์ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม เริ่มต้นจากการศึกษาคุณค่าของบ้านไม้พื้นถิ่นเชียงคาน และร่วมเรียนรู้กับชุมชน นำไปสู่การคัดเลือกบ้านไม้ที่เหมาะสมจำนวน 2 หลัง เพื่อนำมาสร้างตัวอย่างของการอนุรักษ์และพัฒนาให้เกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ในลักษณะพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ตลอดจนลงมือลงแรงอนุรักษ์ร่วมกันผ่านกิจกรรม “โฮมแฮง” โดยชาวชุมชนและผู้เกี่ยวข้องจำนวนกว่า 60 คน ส่งผลให้ชาวชุมชนเชียงคานมีความต้องการอนุรักษ์และพัฒนาบ้านไม้พื้นถิ่นเพื่อสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ในลักษณะนี้ขึ้นอีกหลายแห่ง รวมถึงบ้านที่มีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าเรียนรู้ เช่น ผ้านวม การจักสาน การประมง อาหารท้องถิ่น เป็นต้น เพื่อประโยชน์ของเมืองเชียงคาน ทั้งในด้านการสืบสานมรดกวัฒนธรรม และในด้านการสร้างผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวแบบสร้างสรรค์