งานวิจัยและบทความ

การบันทึกเหตุการณ์ : รากฐานจดหมายเหตุของไทยและพัฒนาการสู่สังคมร่วมสมัย
โดย นยา สุจฉายา
เผยแพร่เมื่อ 14 มิถุนายน 2024
พิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุ
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ
“จดหมายเหตุ” ในความหมายดั้งเดิมของไทยก่อนได้รับอิทธิพลการจัดการจดหมายเหตุสมัยใหม่จากตะวันตก หมายถึง การบันทึกเหตุการณ์ซึ่งแตกต่างจากจดหมายเหตุสากลซึ่งเน้นการเก็บเอกสารที่มีคุณค่าในระยะยาว บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษารากฐานวัฒนธรรมการจัดการจดหมายเหตุดั้งเดิมของไทย โดยศึกษาพัฒนาการการบันทึกในสังคมไทยและแนวคิดเบื้องหลัง โดยศึกษาเอกสารจดหมายเหตุไทยในบริบทต่าง ๆ รวมถึงสัมภาษณ์นักจดหมายเหตุแห่งชาติและผู้เชี่ยวชาญด้านการบันทึก การศึกษาพบว่าการบันทึกอันเป็นรากฐานของการปฏิบัติงานจดหมายเหตุของไทยมีวิธีการบันทึกเหตุการณ์ผ่านสายตาของอาลักษณ์หรือนักจดหมายเหตุสันนิษฐานว่าอาจได้รับอิทธิพลจากจีน ได้รับการสืบทอดและประยุกต์ใช้มาถึงปัจจุบันในสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ การบันทึกเป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายทอดความรู้และความทรงจำในภาคประชาชนเรื่อยมาเช่นกัน การบันทึกกลับมีบทบาทมากขึ้นในสังคมร่วมสมัยเนื่องจากประชาชนสามารถบันทึกและมีส่วนร่วมในการจัดการจดหมายเหตุได้ นำไปสู่ข้อเสนอแนะในการสร้างความมีส่วนร่วมในการบันทึกให้กว้างขวางและหลากหลายยิ่งขึ้นโดยอาศัยการเชื่อมโยงทางเทคโนโลยี