งานวิจัยและบทความ


บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นเพื่อศึกษาถึงวิธี VERNADOC ซึ่งมีที่มาจากฟินแลนด์ และเป็นที่รู้จักในไทยผ่านโครงการสำรวจรังวัดมรดกสถาปัตยกรรมในนามค่าย VERNADOC เพื่อทำความเข้าใจแนวคิดพื้นฐานที่มา หลักการ ตลอดจนบทบาทและสถานภาพของการใช้ VERNADOC เป็นเครื่องมือในการบันทึกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของไทย โดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหาจากหลักฐานเอกสาร การสัมภาษณ์บุคคลเกี่ยวข้อง ประกอบกับการสังเกตแบบมีส่วนร่วมของผู้วิจัย จากผลการศึกษาสรุปได้ว่า การสำรวจรังวัดในพื้นที่จริงด้วยเครื่องมือพื้นฐานเพื่อบันทึกสภาพอาคารอย่างถูกต้องแม่นยำเป็นหัวใจสำคัญของวิธี VERNADOC โดยการนำเสนอคุณลักษณะของวัสดุพื้นผิว และเพิ่มมิติด้วยแสงเงาแทนอักษรหรือสัญลักษณ์ ทำให้ง่ายต่อการรับรู้สำหรับคนทั่วไป เมื่อผนวกกับการทำงานแบบอาสาสมัครและนำผลงานกลับไปให้ชมทันทีที่เสร็จงานจึงกระทบความรู้สึกโดยตรงต่อเจ้าของและผู้คุ้นเคยกับอาคารเหล่านั้น ด้วยประสิทธิภาพเช่นนี้ทำให้ Markku Mattila นำวิธีการที่สถาปนิกฟินแลนด์ปฏิบัติต่อเนื่องกว่า 100 ปี มาจัดค่ายอาสาสมัครนานาชาติเพื่อบันทึกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในชื่อค่าย VERNADOC เป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 2005 โดยคาดหวังว่าผลงานจากการสำรวจจะเป็นแรงบันดาลใจให้เจ้าของอาคาร หรือคนในชุมชนเห็นคุณค่าเช่นเดียวกับที่ภายนอกเห็น และร่วมใจกันอนุรักษ์อาคารเหล่านั้นให้คงอยู่ต่อไป ประเทศไทยได้รับเอาวิธี VERNADOC มาทดลองจัดค่ายแรกในค.ศ. 2007 ผ่านสมาคมอิโคโมสไทย จากนั้นจึงได้รับการสนับสนุนจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันการศึกษาที่สอนวิชาสถาปัตยกรรม ให้การฝึกอบรมอาสาสมัครที่สนใจทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ผ่านงานสำรวจรังวัดมรดกสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่า แล้วจัดแสดงนิทรรศการให้สาธารณชนได้รับชมอย่างต่อเนื่อง ทำให้ VERNADOC เป็นที่รู้จักและถูกนำไปใช้ต่อในหลายวัตถุประสงค์ จนปัจจุบันพบว่ามี 73 ค่ายถูกจัดขึ้นแล้วในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยและอีก 13 ค่ายในต่างประเทศ ซึ่งผู้จัดค่ายล้วนได้ผ่านการฝึกอบรมจากไทย (ในงานวิจัยนี้รวมเรียกว่าค่าย VERNADOC Thailand network) จากจำนวนค่ายทั้งหมด 120 ค่ายที่จัดแล้วใน 22 ประเทศทั่วโลก โดยในค่ายทั้งหมดของ VERNADOC Thailand network นี้กว่า 80% เป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ซึ่งยังไม่เคยมีการบันทึกข้อมูลทางสถาปัตยกรรมมาก่อน จึงถือได้ว่านอกจาก VERNADOC จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มเติมฐานข้อมูลสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของไทย และประเทศเครือข่ายเข้าไว้ในระบบเดียวกันกับสากลอีกด้วย ซึ่งข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้อย่างแม่นยำและเชื่อถือได้เหล่านั้นย่อมเป็นประโยชน์ต่อไป ไม่ว่าจะในแง่ของการศึกษาเปรียบเทียบ การสร้างแรงบันดาลใจ หรือเพื่อการอนุรักษ์ปรับปรุงก็ตาม