งานวิจัยและบทความ

ข้อสังเกตจากกะโหลกศีรษะของเจ้าฟ้าไทอาหมในม่อยด้ำ (สุสาน) ที่เจ้รายดอย: การศึกษาเชิงบรรยายเกี่ยวกับการฝังศพของชาวไทอาหมเทียบกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทบางกลุ่ม

โดย วรวิทย์ บุญไทย, สุดแดน วิสุทธิลักษณ์

เผยแพร่เมื่อ 14 มิถุนายน 2024

กลุ่มชาติพันธุ์ไท
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ

วารสารธรรมศาสตร์, ปีที่ 42 ฉบับที่ 3 (2566)


ในอาณาจักรไทอาหม เมื่อกษัตริย์สิ้นพระชนม์ พระศพจะได้รับการทำพิธีและเก็บรักษาไว้ในหลุมฝังหรือ "ม่อยด้ำ" (moi-dam) ที่จัดเตรียมขึ้นมาโดยเฉพาะ ณ สุสานหลวง ที่เมืองเจ้รายดอย (Che-rai-doi) ซึ่งม่อยด้ำที่กล่าวถึงนี้เป็นที่มาและแหล่งข้อมูลหลักของงานวิจัยซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักอยู่สามประการ คือ เพื่อตรวจสอบกะโหลกศีรษะทั้ง 5 ชิ้น ของบุคคลชนชั้นปกครองในราชวงศ์อาหม ที่ขุดค้นพบได้จากม่อยด้ำ หมายเลข 2 (ตั้งอยู่ที่เมืองสิพซาการ์ รัฐอัสสัม อินเดีย ซึ่งก็ได้พบหลักฐานและลักษณะหลายประการ ที่ชี้ให้เห็นได้ชัดเจนว่ากะโหลกเหล่านี้ แสดงลักษณะทางสัณฐานวิทยา อันเป็นอัตลักษณ์ของชาวเอเชีย (เผ่าพันธุ์มองโกลอยด์)วัตถุประสงค์ประการที่สอง คือ การใช้แนวทางการศึกษาหรือระเบียบวิธีทางชาติพันธุ์วิทยา เพื่อศึกษาเชิงบรรยายแนวทางวิธีการฝังศพของชาวไทอาหม โดยอาศัยเอกสารท้องถิ่นคืออาหมบุราณจี ร่วมกับเอกสารการบันทึกของชาติตะวันตก พบว่ามีความคล้ายคลึงกันของประเพณีการฝังศพระหว่างชาติพันธุ์ไทด้วยกันแม้ว่าจะต่างกลุ่ม และจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับประเพณีจัดการศพของชาวฮินดูในประเทศอินเดีย และวัตถุประสงค์ประการสุดท้ายก็คือ การพัฒนาการศึกษาวิจัยชิงโบราณคดีและชาติพันธุ์วิทยา ในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ผ่านความร่วมมือกับนักวิชาการสาขาต่าง ๆ ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียให้มากขึ้น ในส่วนของวิธีการประเมินทางสัณฐานวิทยาของกระดูกกะโหลกและกระดูกยาว สำหรับงานวิจัยนี้ใช้หลักวิธีการตามมาตรฐานของ Buikstra-Ubelakar (1994) ส่วนวิธี craniometric และ osteometric ที่ใช้ในรายงานฉบับนี้ ใช้วิธีตามแบบของ Martin and Saller (1957) สมการประมาณความสูงใช้วิธีการตามแบบของ Mahakkanukrauh et al. (2011) และในการศึกษาเปรียบเทียบทางชาติพันธุ์วิทยาและโบราณคดีได้อาศัยข้อมูลจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ งานวิจัยและจากงานสำรวจของผู้วิจัย