งานวิจัยและบทความ

การปรับเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยของเรือนแถวไม้ริมน้ำชุมชนตลาดหัวตะเข้ กรุงเทพมหานคร จากปรากฏการณ์เจนตริฟิเคชั่น

โดย พีรยา บุญประสงค์ , สุชาครีย์ ถิรเศรษฐ์

เผยแพร่เมื่อ 15 มิถุนายน 2024

สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น, การแปลงพื้นที่เพื่อเปลี่ยนชนชั้น
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ

Asian Creative Architecture, Art and Design : ACAAD, ปีที่ 36 ฉบับที่ 1 (2023): มกราคม - มิถุนายน 2566


การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทของปรากฏการณ์เจนตริฟิเคชันในงานสถาปัตยกรรม สังคม และวิถีชีวิตในชุมชน จากการเปลี่ยนแปลงประโยชน์ใช้สอยในงานสถาปัตยกรรม รวมไปถึงศึกษาในทัศนคติที่มีต่อชุมชนของผู้อยู่อาศัย และผู้ประกอบการ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสถาปัตยกรรม และวิถีชีวิต เพื่อสรุปถึงการปรับเปลี่ยนการใช้งานใหม่ของเรือนแถวริมน้ำชุมชนตลาดหัวตะเข้ โดยการเก็บข้อมูลภาคสนาม การสัมภาษณ์ และสำรวจ รวมไปถึงการทบทวนวรรณกรรม และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจากการศึกษาปรากฏการณ์เจนตริฟิเคชัน ทำให้เกิดคำถามที่ว่า ปรากฏการณ์เจนตริฟิเคชั่น และทัศนคติของผู้คน ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยเรือนแถวไม้ริมน้ำในชุมชนหัวตะเข้อย่างไร จากการศึกษาเปรียบเทียบจากอาคารที่ได้มีการการปรับเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยใหม่โดยผู้ประกอบการ พบว่าปรากฏการณ์เจนตริฟิเคชันส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของชุมชน และทางสถาปัตยกรรม ให้เกิดการรองรับกับพฤติกรรมการใช้งานใหม่จากผู้เข้ามาใช้งานภายในชุมชน สามารถตอบรับกับวิถีการท่องเที่ยวเชิงโหยหาอดีต ที่ส่งผลต่อการเกิดกิจกรรมและวิถีชีวิตใหม่ภายในชุมชนที่สามารถอยู่ร่วมกับวิถีชีวิตเดิมได้ จากการศึกษาพบว่าการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางสถาปัตยกรรม และลักษณะการใช้สอยของเรือนแถวไม้ริมน้ำ จะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการใช้งานที่ตอบสนองต่อการเติบโตของการท่องเที่ยว เมื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกับวิธีการปรับเปลี่ยนลักษณะทางกายภาพของอาคาร พบว่าผู้ประกอบการมักซ่อมแซม และปรับปรุงอาคารให้มีลักษณะเปลือกอาคาร และโครงสร้างใกล้เคียงกับรูปแบบเดิม แต่ในการใช้สอยภายในจะมีความแตกต่างกันตามการใช้งาน ซึ่งเป็นการพยายามรักษารูปแบบทางสถาปัตยกรรมให้สอดคล้องกับบริบทเดิม ที่แสดงถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ กับคนในชุมชน และทัศนคติของผู้ประกอบการนั้นมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนา และการอนุรักษ์ชุมชนทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งมีผลต่อวิถีชีวิต และความเข้มแข็งของชุมชน นำไปสู่การอยู่ร่วมกันภายใต้ความรู้ ความเข้าใจในการเกิดปรากฏการณ์เจนตริฟิเคชันในชุมชน