งานวิจัยและบทความ
การปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติของชาวกะเหรี่ยง
โดย Alexander Greene, สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์
เผยแพร่เมื่อ 13 ธันวาคม 2023
การจัดการมรดกวัฒนธรรม, การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ
วารสารสยามสมาคม Vol. 111 No. 2 (2023)
ดาวน์โหลด
ในภาคเหนือของประเทศไทย วาทกรรมที่ขับเคลื่อนโดยรัฐกำกับการรับรู้เกี่ยวกับชนบนพื้นที่สูง หรือที่เรียกว่า “ชาวเขา” ว่าเป็นผู้ทำลายป่าไม้ เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด และเป็นผู้อพยพย้ายถิ่นที่ไม่ใช่ชนพื้นถิ่นดั้งเดิม แต่ในความเป็นจริงแล้วมีความซับซ้อนกว่านั้น กลุ่มชนพื้นถิ่น เช่น กะเหรี่ยง มีแบบแผนการดำเนินชีวิตที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีการกำหนดแหล่งเฉพาะและสัดส่วนการใช้ทรัพยากร ที่ดินชุมชนอย่างเหมาะสม รวมถึงป่าลุ่มน้ำ ป่าสุสาน และป่าที่ปกปักรักษาจิตวิญญาณของชุมชน อันเป็นสถานที่ที่สมาชิกชุมชนใช้ฝังรกของเด็กตามประเพณี
ข้อห้ามที่ซับซ้อนและหลากหลายใช้ควบคุมการล่าสัตว์ เช่น การห้ามฆ่าสัตว์บางชนิด ข้อห้ามและข้อปฏิบัติที่จำกัดการใช้ทรัพยากรไม่ให้สิ้นเปลือง การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่มีสัดส่วนเหมาะสม โดยผ่านกระบวนการที่เป็นวัฏจักรหมุนเวียน ได้แก่ 1) การขออนุญาตใช้ที่ดินชั่วคราว 2) การขอขมาหากมีการใช้ทรัพยากรอย่างไม่เหมาะสม ทั้งที่เจตนาและไม่เจตนา และการขอบคุณก่อนการเสร็จสิ้นการใช้ประโยชน์ และ 3) การคืนผืนดินสู่ผู้ครอบครองที่แท้จริงที่ไม่ใช่มนุษย์
ข้อกำหนดทั้งสามประการของชาวกะเหรี่ยงในการปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งการขออนุญาต การชดเชยไถ่โทษ และการขอบคุณ คือ “วงจรหมุนเวียนที่รักษาความเขียวชอุ่ม” วงจรช่วยรักษาความสัมพันธ์ต่างตอบแทนระหว่างชุมชนมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ วิญญาณ และผืนดิน