เลือกหน้า
Back to Study Trips

เพชรบุรีแดนใจ: สำรวจนิเวศวัฒนธรรมลุ่มน้ำเพชรบุรี

แผนกพิทักษ์มรดกสยาม สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอเชิญท่านเข้าร่วมกิจกรรมศึกษาสัญจร ณ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อเรียนรู้ระบบนิเวศของเมืองเพชร จากร่องรอยของศิลปวัฒนธรรมและธรรมชาติ อันหล่อหลอมขึ้นมาจากความเหมาะสมทางธรณีวิทยาและความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านมุมมองของนักพฤกษศาสตร์

ชื่อเมืองเพชรบุรีในแผนที่และเอกสารโบราณของตะวันตกมีความแตกต่างออกไป เช่น พิเพลี Pipeli (de Choisy, 1685; de la Loubere, 1688), พิพรี Pypry (van Vliet, 1633-42), และ พิพลี Piply (Geraise, 1688) เมืองเพชรบุรีนั้นตั้งอยู่บนสันดอนทรายโบราณ  ในบริเวณที่เป็นจุดเริ่มต้นของสันดอนทรายชายฝั่งขนาดใหญ่  ที่ทอดตัวยาวไปตามคาบสมุทรไทยมาเลย์จนสุด ซึ่งสันดอนทรายนี้อยู่ถัดจากเขตดินดอนปากแม่น้ำขนาดใหญ่ของระบบแม่น้ำเจ้าพระยา  อันประกอบด้วยแม่น้ำหลายสายที่มาออกทะเลในเขตดินดอนสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ของระบบแม่น้ำเจ้าพระยา

เมืองเพชรบุรีแต่โบราณก่อร่างสร้างตัวขึ้นบนภูมิประเทศอันเหมาะสมที่เป็นสันดอนทรายเขตร้อนชื้น สามารถเก็บกักน้ำเอาไว้ทั้งจากน้ำฝน และน้ำผิวดินที่ไหลมาจากที่สูงคือเทือกเขาตะนาวศรี และระบายออกมาสู่ที่ราบระหว่างสันทรายโบราณในฤดูน้ำหลาก เมื่อสันทรายอิ่มน้ำเต็มที่แล้ว ลักษณะเช่นนี้จึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การอยู่อาศัยและทำเกษตรกรรม อีกทั้งแม่น้ำเพชรบุรีที่ไหลจากเทือกเขาตะนาวศรีนั้น ไม่ไหลผ่านที่ราบลุ่มดังเช่นแม่น้ำทั่วไป แต่ไหลมารวมกับน้ำพุจากสันทรายที่ผ่านการกรองตามธรรมชาติเกิดเป็นทางน้ำ ซึ่งทางน้ำในสันทรายนี้ตามปกติจะไหลขึ้นเหนือไปตามทิศของกระแสน้ำชายฝั่งโบราณที่พาเอาตะกอนทรายไหลขึ้นทางเหนือตามทิศทางคลื่นลม แม่น้ำเพชรบุรีจึงมีความพิเศษที่ไหลขึ้นเหนือตามทิศทางกระแสน้ำชายฝั่งโบราณ ไม่มีตะกอน ทั้งใสและสะอาดบริสุทธิ์ สังคมพืชชายน้ำของแม่น้ำมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ท่านจะได้สำรวจความพิเศษของแม่น้ำเพชรบุรีด้วยสายตาของท่านเอง  พร้อมกับทัศนาความงดงามทางธรรมชาติที่สะท้อนอยู่ในภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดโบราณที่ถูกคัดสรรมาแล้ว

ชายฝั่งทะเลของเพชรบุรียังเป็นจุดเริ่มต้นของสันดอนทรายเขตร้อนที่มีความสำคัญมาก ด้วยกระแสลมที่พัดตรงมาจากทะเลจีนใต้นั้น มีคาบสมุทรอินโดจีนที่ขนาบอยู่อีกด้านของอ่าวไทย คอยช่วยบังกระแสลมดังกล่าว  ทำให้ไอเกลือจากทะเลไม่แรงเท่ากับบริเวณที่อยู่ตรงกับแนวปะทะของกระแสลม ป่าชายหาดของเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์จึงมีลักษณะพิเศษ พืชที่ทนไอเกลือได้น้อยก็ยังสามารถอยู่ใกล้ชายฝั่งได้ แต่น่าเสียดายที่ป่าเหล่านี้ถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก จากการใช้ประโยชน์ที่ดินชายหาดเพื่อการท่องเที่ยว และหน่วยราชการต่างๆ โชคดีที่เราอาจจะยังพบเห็นป่าลักษณะเช่นนี้ในเพชรบุรี รวมทั้งชายหาดของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปจนถึงตำบลบางเบิดอันเป็นจุดสิ้นสุดของแนวกันลมจากปลายแหลมญวนของคาบสมุทนอินโดจีนทางตะวันออกของอ่าวไทยได้บ้าง ซึ่งในบริเวณของพระราชนิเวศน์มฤคทายวันเป็นจุดสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่พันธุ์ไม้พื้นถิ่นที่ได้รับการอนุรักษ์เอาไว้อย่างดี ตั้งแต่ตอนที่สถาปนาพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน แต่ส่วนใหญ่ถูกทำลายไปจากการใช้พื้นที่ของหน่วยงานอื่น ๆ ที่เข้ามาใช้พื้นที่ในภายหลัง หลังจากรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงสถาปนาพระราชนิเวศน์ฯ

การศึกษาสัญจรครั้งนี้แผนกพิทักษ์มรดกสยาม ร่วมมือกับกลุ่มลูกหว้า ซึ่งเป็นกลุ่มภาคประชาสังคมที่ทำงานวัฒนธรรมอย่างแข็งขัน ในการจัดกิจกรรมวันแรกในตัวเมืองเพชรบุรี ท่านจะได้สำรวจวัดและชุมชนในตัวเมือง ฟังเรื่องราวความทรงจำของคนในชุมชนเกี่ยวกับนิเวศวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม การรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้จะนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้าใจในอัตลักษ์เฉพาะของระบบนิเวศที่ส่งผลต่อการวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมของจังหวัดเพชรบุรีจากอดีตสู่ปัจจุบัน

ในวันที่สอง ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ท่านจะได้เห็นตัวอย่างของการฟื้นฟูระบบนิเวศดั้งเดิมที่ถูกทำลายไปแล้ว ผ่านมุมมองทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และนิเวศวิทยา ในพื้นที่ชายฝั่งของเพชรบุรีที่มีอยู่ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กิจกรรมศึกษาสัญจรในครั้งนี้จะไม่ใช่แค่การเดินทาง แต่เป็นการเสริมสร้างความเข้าใจและการอนุรักษ์ระบบนิเวศอันมีผลเป็นอย่างยิ่งต่อวัฒนธรรมของเพชรบุรี

Programme (English): https://bit.ly/3zjMguB
(The trip will be conducted in Thai)

When

วันเสาร์ที่ 2 ถึง อาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน 2567

Leader

ดร. กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ

นักพฤกษศาสตร์

และ คุณเกล้ามาศ ยิบอินซอย

ผู้อำนวยการ มูลนิธิสำนักงานพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และสมาชิกสยามสมาคมฯ

Booking

กำหนดการเดินทางดังนี้:

วันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567: กรุงเทพ – เพชรบุรี
พบกับคณะเดินทาง ที่สยามสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ 131 ซอยสุขุมวิท 21 ถนนอโศกมนตรี กรุงเทพมหานคร
8:00 ออกเดินทางจากสยามสมาคมฯ สู่จังหวัดเพชรบุรี โดยรถบัส
เช้า พบกับกลุ่มลูกหว้า ผู้ซึ่งขับเคลื่อนงานอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่วัดใหญ่สุวรรณาราม ชมมรดกวัฒนธรรม พันธุ์ไม้ในภาพจิตรกรรม และพันธุ์ไม้ท้องถิ่นในบริเวณวัดใหญ่สุวรรณาราม
เที่ยง รับประทานอาหารกลางวัน ที่ร้านอาหาร
บ่าย ชมภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดเกาะ สำรวจพันธุ์ไม้ในภาพจิตรกรรมที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติของเมืองเพชร จากนั้นแวะชมโครงการพัฒนาริมน้ำ เดินสำรวจชุมชนรอบวัดเกาะ
เปิดวงเสวนา หัวข้อ “นิเวศวัฒนธรรมลุ่มน้ำเพชรบุรี (ที่อาจไม่หวนกลับ)”  โดย
       – ดร. กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ, นักพฤกษศาสตร์-  อาจารย์จำลอง บัวสุวรรณ์, ผู้ก่อตั้งกลุ่มลูกหว้า-  คุณนิรันดร์ นิรันดร์นุต, ผู้จัดการโครงการ The Biodiversity Finance Initiative (BIOFIN), UNDP ประเทศไทย-  อาจารย์วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร, ศิลปิน และเจ้าของแนวคิด นิเวศน์สุนทรี
กินลมชมตลาด ณ ถนนมีชีวิตพานิชเจริญ
ออกเดินทางไปยังอำเภอชะอำ
ค่ำ รับประทานอาหารเย็น ที่ร้านอาหาร
เช็คอินที่โรงแรม Avani+ Hua Hin Resort และพักผ่อนตามอัธยาศัย
วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567: เพชรบุรี – กรุงเทพ
รับประทานอาหารเช้า ณ โรงแรมที่พัก
เช้า ออกเดินทางจากโรงแรมไปยังพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
ชมงานอนุรักษ์พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน พร้อมชมการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ในอาณาเขตโดยรอบ

นำโดย คุณเกล้ามาศ ยิบอินซอย ผู้อำนวยการ สำนักงานมูลนิธิพระราชนิเศน์มฤคทายวัน

เที่ยง รับประทานอาหารกลางวัน รังสรรค์จากกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
บ่าย เดินทางกลับกรุงเทพฯ ผ่านทางเส้นทางบ้านแหลม – เขายี่สาร เพื่อชมภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเมืองเพชร
17:00 เดินทางถึงสยามสมาคมฯ

สยามสมาคมฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงรายการตามความเหมาะสม

ค่าใช้จ่ายสนับสนุนกิจกรรม 14,000 บาท สำหรับสมาชิกสยามสมาคมฯ (15,500 บาท สำหรับผู้เข้าร่วมทั่วไป) และค่าห้องพักเดี่ยว 1,600 บาท ค่าใช้จ่ายนี้รวมค่ายานพาหนะต่างๆ ตลอดการเดินทาง ค่าอาหาร 3 มื้อ ค่าโรงแรม บัตรเข้าชมสถานที่ ค่าวิทยากร ค่าบำรุงสถานที่ ประกันการเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อให้การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นไปได้อย่างราบรื่น การสำรองที่นั่งของท่านจะเสร็จสมบูรณ์เมื่อท่านชำระเงินแล้ว สำหรับการชำระเงินด้วยบัตรเครดิต/บัตรเดบิต จะมีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม 4% เพื่อครอบคลุมค่าธรรมเนียมของธนาคาร กรุณาชำระเงินด้วยเงินสดหรือเช็คสั่งจ่าย “สยามสมาคม” หรือโอนเงินได้ที่บัญชีของสยามสมาคมฯ ธนาคาร TMBThanachart (ttb) หมายเลขบัญชีออมทรัพย์ 053-2-18000-7 ทั้งนี้ท่านสามารถสแกน QR โค้ดด้านล่างเพื่อชำระเงิน หากชำระเงินเรียบร้อยแล้ว กรุณาส่งสลิปการโอนเงินทางอีเมลที่แจ้งทางด้านล่างนี้

 

หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือสำรองที่นั่ง โปรดติดต่อคุณธันย์ อิทธิสกุลพันธ์ ที่หมายเลข 02-661-6470-3 ต่อ 205 หรืออีเมล studytrips@thesiamsociety.org  สมาคมฯ เปิดทำการตั้งแต่เวลา 09:00 ถึง 17:00 น. ในวันอังคาร-วันเสาร์

หมายเหตุ: สยามสมาคมฯ อาจใช้ภาพที่บันทึกระหว่างการจัดกิจกรรมนี้ ซึ่งอาจมีภาพของผู้เข้าร่วมกิจกรรมอยู่ด้วย เพื่อการประชาสัมพันธ์และงานสื่อสารองค์กร ผ่านทางเว็บไซต์ของสมาคมและช่องทางโซเชียลมีเดียออนไลน์อื่นๆ

More upcoming study trips