งานวิจัยและบทความ

บทเรียนจากรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก: แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศระดับสากลในประเทศไทย
โดย Julia Davies, Richard A. Engelhardt, มณฑิรา หรยางกูร อูนากูล
เผยแพร่เมื่อ 10 มิถุนายน 2024
การอนุรักษ์และสงวนรักษามรดกวัฒนธรรม
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ
วารสารสยามสมาคม Vol. 100 (2012)
ดาวน์โหลด
ในปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้ริเริ่มการมอบรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Asia-Pacific Awards for Cultural Heritage Conservation) เป็นประจำทุกปี เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์อาคารสถานที่อันมีคุณค่าเชิงมรดกทางวัฒนธรรมของภูมิภาคนี้ โดย ณ ช่วงเวลาที่ตีพิมพ์บทความนี้ มีโครงการจากประเทศไทยได้รับรางวัลนี้ไปแล้วรวม 10 รายการ โดยจากบรรดาโครงการที่ได้รับรางวัลทั้งหมดนั้น เริ่มปรากฏฉันทามติที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับชุด "หลักการพื้นฐาน" ซึ่งนิยามมาตรฐานสากลของการอนุรักษ์ ในขณะเดียวกันก็สะท้อนลักษณะเฉพาะของแนวปฏิบัติในเอเชีย โดย"หลักการพื้นฐาน" เหล่านี้ ได้แก่
- การจัดทำแผนที่พื้นที่ทางวัฒนธรรมร่วมกัน โดยระบุระดับความสำคัญ ภาษาสัญลักษณ์ และความเชื่อมโยงต่างๆ ถือเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่สำคัญที่จะทำให้การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมเป็นไปอย่างเหมาะสมและประสบความสำเร็จ
- การแสดงออกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้มีที่มา คุณค่า และนัยสำคัญที่สืบเนื่องมาจากวิถีปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
- ความเป็นของแท้ดั้งเดิม (authenticity) เป็นลักษณะที่ขึ้นอยู่กับบริบททางวัฒนธรรม โดยคุณลักษณะนี้สามารถพบได้จากความต่อเนื่อง แต่ความต่อเนื่องนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นความต่อเนื่องของวัตถุหรือวัสดุเสมอไป
- กระบวนการอนุรักษ์จะประสบความสำเร็จ เมื่อมีการเปิดเผยเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณี และค้นพบความหมายในชั้นต่างๆ ขององค์ความรู้
- การใช้ประโยชน์จากมรดกทางวัฒนธรรมอย่างเหมาะสมเกิดจากการตกลงเจรจาร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่พื้นที่ที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต
ในบทความนี้ได้มีการศึกษาโครงการจากประเทศไทยที่ได้รับรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในเอเชียแปซิฟิก โดยพิจารณาภายใต้บริบทของหลักการพื้นฐานที่แต่ละโครงการเป็นตัวอย่างที่ดี และอภิปรายถึงบทเรียนด้านการอนุรักษ์ที่ได้จากการดำเนินงานของประเทศไทย