งานวิจัยและบทความ

ศักยภาพ และแนวทางการจัดการแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม และภูมิทัศน์วัฒนธรรมในภาคเหนือ เพื่อเสนอขอรับการจารึกชื่อเป็นแหล่งมรดกโลก

โดย เกรียงไกร เกิดศิริ, นันทวรรณ ม่วงใหญ่, สุพจน์ จิตสุทธิญาน

เผยแพร่เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2024

ภูมิทัศน์วัฒนธรรม, การจัดการมรดกวัฒนธรรม, มรดกโลก
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ

วารสารหน้าจั่ว ว่าด้วยสถาปัตยกรรม การออกแบบ และสภาพแวดล้อม Vol. 27 (2013): กันยายน 2555 - สิงหาคม 2556


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งผลการวิจัยโครงการ เรื่อง “การศึกษาวิเคราะห์คุณค่า ศักยภาพ และแนวทางการเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเพื่อขอรับการพิจารณาเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมเพิ่มเติม” โดยมีเนื้อหาเฉพาะแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในภาคเหนือที่มี “คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (Outstanding Universal Value (OUV))” อันสมควรได้รับการผลักดัน และการวางกรอบแนวทางการบริหารจัดการเพื่อนำชื่อเข้าสู่กระบวนการเสนอเป็นแหล่งมรดกโลกในการศึกษานี้ได้เสนอแหล่งที่มีศักยภาพในลักษณะเพื่อนำเสนอเพื่อการประกาศขึ้นเป็นแหล่งมรดกโลก “แบบรวมกลุ่ม (Serial Nomination)” เพื่อใช้ศักยภาพด้านต่างๆ ร่วมกันอันจะยิ่งทำให้ “คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV)” นั้นมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งได้แบ่งกลุ่มแหล่งมรดกอันทรงคุณค่าที่อยู่ภายในพื้นที่กลุ่มยุทธศาสตร์จังหวัดภาคเหนือตอนบน และโครงการวิจัย “การศึกษาวิเคราะห์คุณค่า ศักยภาพ และแนวทางการเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเพื่อขอรับการพิจารณาเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมเพิ่มเติม” ออกเป็นกลุ่มตาม “ประเด็นหัวข้อ (Theme)” ตามบริบทแวดล้อมที่สัมพันธ์กัน (Related Context) คือ 1. แหล่งโบราณสถานและแหล่งโบราณคดีเมืองร่วมวัฒนธรรมล้านนา (Ancient Monuments and Archeological Sites in Historic Towns of Lanna Culture), 2. วัดพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ และเส้นทางวัฒนธรรมแห่งล้านนา (Sacred Monasteries and Cultural Routes in Lanna Culture), 3. ภูมิทัศน์วัฒนธรรมธรรมภูเขาศักดิ์สิทธิ์ในวัฒนธรรมล้านนา (Sacred Mountains of Lanna Culture), 4. ภูมิทัศน์วัฒนธรรมธรรมและเมืองประวัติศาสตร์ลำปางที่ยังมีพลวัต (Cultural Landscape and Living Heritage Town of Lampang), 5. ภูมิทัศน์วัฒนธรรมแห่งหุบเขาแม่ฮ่องสอน (Cultural Landscape of Mae Hong on Valley)

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาศักยภาพของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในประเทศไทยจากแหล่งที่มีศักยภาพทั้งสิ้น 10 แหล่ง เพื่อการวางแผนยุทธศาสตร์ผลักดันให้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งชั่วคราวเพื่อรอรับการพิจารณา และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม และเพื่อนำองค์ค วามรู้ที่ได้จากการวิจัยเพื่อเป็นฐานข้อมูลเพื่อนำไปสู่การจัดทำเอกสารประกอบการตัดสินใจในการเสนอชื่อเป็นแหล่งมรดกโลก และการกำหนดแผนการดำเนินการเสนอรายชื่อเพื่อรับการยกย่องเป็นแหล่งมรดกโลก รวมทั้งศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเป็นแหล่งมรดกโลก นอกจากนี้ ยังมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นให้เกิดกระบวนทัศน์ใหม่ในการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศอย่างยั่งยืน และการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และวัฒนธรรมในฐานะของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการสร้างมูลค่าเพิ่มจากทุนทางสังคม และวัฒนธรรม