งานวิจัยและบทความ
พัฒนาการของผังบริเวณวัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และการสำรวจภาคสนาม
โดย เกรียงไกร เกิดศิริ, บุณยกร วชิระเธียรชัย
เผยแพร่เมื่อ 25 พฤษภาคม 2024
สถาปัตยกรรม
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ
การศึกษาพัฒนาการของผังบริเวณวัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และการสำรวจภาคสนาม มุ่งทำการศึกษาในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อรูป และพัฒนาการของผังบริเวณ และรูปแบบศิลปสถาปัตยกรรมของวัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชโดยละเอียด โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ตลอดจนการใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ประเภทต่างๆ สอบทวนกัน เพื่อให้ทราบถึงประวัติศาสตร์การก่อสร้าง พัฒนาการทางรูปแบบสถาปัตยกรรม ร่วมกับการสำรวจรังวัดสถาปัตยกรรมต่างๆ ในวัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช โดยละเอียดการจัดทำฐานข้อมูลภาพถ่ายปัจจุบัน การค้นคว้าข้อมูลจากภาพถ่ายเก่า ตลอดจนการจัดทำแบบสถาปัตยกรรม และแบบสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์สามมิติ เพื่ออธิบายรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของวัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชอย่างเป็นระบบ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาการเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม ทั้งนี้จากการศึกษาสามารถแบ่งพัฒนาการของผังบริเวณวัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ออกได้เป็น 8 ระยะ ดังต่อไปนี้
ระยะที่ 1. ก่อสร้างองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ในปีพ.ศ. 1719 ซึ่งในการก่อสร้างนั้นอาจจะมีการสร้างเจดีย์ราย และวิหารหรือศาลาสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอยู่คู่ด้วยแตไม่มีหลักฐานลายลักษณ์ยืนยัน
ระยะที่ 2. พัฒนาการของผังบริเวณ อาจเป็นไปได้ 3 แนวทาง คือ
แนวทางที่ 2.1: ก่อสร้างวิหารธรรมศาลา และทับเกษตร ในปี พ.ศ. 1861
แนวทางที่ 2.2: มีการก่อสร้างโพธิมณเฑียรก่อนหน้าการสร้างวิหารธรรมศาลา และทับเกษตร ในปีพ.ศ. 1861
แนวทางที่ 2.3: มีการก่อสร้างโพธิมณเฑียรหลังการก่อสร้างวิหารธรรมศาลา และ ทับเกษตร ในปีพ.ศ. 1861 แต่ต้องก่อนหน้าการสร้างวิหารเขียน ในปีพ.ศ. 1919
ระยะที่ 3. ก่อสร้างพระวิหารเขียน ในปี พ.ศ. 1919
ระยะที่ 4. ก่อสร้างระเบียงคตล้อมผังบริเวณเขตพุทธาวาส ในปีพ.ศ. 2036 และสันนิษฐานว่ามีการล้อมผนังวิหารธรรมศาลา และการก่อท้ายวิหารให้เป็นท้ายจรณัม และเชื่อมต่อกับระเบียงคต
ระยะที่ 5. การบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระบรมธาตุครั้งใหญ่ทั้งพระอาราม กล่าวคือมีการบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ที่ทลายลงมาถึงบัลลังก์ ซึ่งคงได้มีการซ่อมวิหารเขียน ทับเกษตร และวิหาร พระม้าด้วย รวมไปถึงมีการปลูกต้นศรีโพธิ์ที่นำมาจากลังกา และสร้างโพธิมณเฑียรขึ้นใหม่
ระยะที่ 6. ก่อสร้างวิหารที่ภายในประดิษฐานพระเจดีย์และพระพุทธรูปเป็นวิหารที่เรือนยอดทรงมณฑป ในปี พ.ศ. 2171
ระยะที่ 7. การสร้างวิหารหลวงใหม่ลงตรงตำแหน่งวิหารยอดมณฑปเดิม ซึ่งการก่อสร้างวิหารหลวงใหม่นี้อยู่ในราวปี พ.ศ. 2354-2382
ระยะที่ 8. การก่อสร้างระเบียงคตทางด้านทิศเหนือเพิ่มเติม และการก่อสร้างซุ้มประตูเยาวราช ในปี พ.ศ. 2452