งานวิจัยและบทความ

โขง ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 21–25 รูปแบบ เทคนิค และแนวคิดของกลุ่มสกุลช่างลำปาง
โดย ฐาปกรณ์ เครือระยา
เผยแพร่เมื่อ 25 พฤษภาคม 2024
การอนุรักษ์และสงวนรักษามรดกวัฒนธรรม, ศิลปกรรม, ช่างฝีมือ
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ
วารสารหน้าจั่ว ว่าด้วยสถาปัตยกรรม การออกแบบ และสภาพแวดล้อม, ฉบับที่ 11 (2557)
การวิจัยเรื่อง “การศึกษารูปแบบและแนวคิด ซุ้มประตูโขงและโขงพระเจ้า สกุลช่างลำปาง ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 21–25” มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บรวบรวมรูปแบบและลักษณะของซุ้มประตูโขงและกู่โขงพระเจ้า เพื่อจำแนกประเภท อายุสมัย และรูปแบบ อันเป็นเอกลักษณ์ของสกุลช่างลำปาง และนำมาวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านคติความเชื่อ เทคนิคการตกแต่ง รวมถึงลักษณะของซุ้มประตูโขงที่เปลี่ยนไป ลักษณะการวิจัยเป็นเชิงคุณภาพ โดยการสำรวจลงพื้นที่ซึ่งมีวิธีการศึกษาในเชิงปฏิบัติการร่วมกับคนในชุมชน ทั้งการสอบถามรายละเอียดสัมภาษณ์และการสนทนากลุ่ม พร้อมทั้งทำการสำรวจรังวัดสัดส่วนทางสถาปัตยกรรม บันทึกภาพรายละเอียดต่างๆ แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ช่วงอายุ กลุ่มช่าง และเทคนิคการสร้าง
ผลการศึกษาพบว่าสามารถจำแนกประเภท อายุสมัย รูปแบบและลักษณะของซุ้มประตูโขงและโขงพระเจ้าอันเป็นเอกลักษณ์ของสกุลช่างลำปางในเขตพื้นที่จังหวัดลำปางได้ทั้งหมด 26 ตัวแบบจากแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม 17 แหล่ง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสามารถนำไปใช้ในการสร้างและอนุรักษ์ รวมถึงผลักดันซุ้มประตูโขงและโขงพระเจ้าให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นในอนาคตได้
ทั้งนี้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรเข้าไปให้ความรู้ความเข้าใจในการอนุรักษ์รักษางานศิลปกรรมดังกล่าว โดยชี้ให้ชุมชนเห็นคุณค่าและความสำคัญ เพื่อเป็นการปลุกจิตสำนึกรักและหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนตน ซึ่งในอนาคตชุมชนอาจจะเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและเป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม โดยชุมชนสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยเป็นฐานข้อมูลเพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการต่อไปได้ในอนาคต