งานวิจัยและบทความ
มุสลิมบางกอกน้อย: พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ ภูมิปัญญา และวิถีวัฒนธรรมอิสลามในเมืองหลวง
โดย สำราญ ผลดี
เผยแพร่เมื่อ 25 พฤษภาคม 2024
ประวัติศาสตร์, มรดกวัฒนธรรม, ชาติพันธุ์
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ
วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยธนบุรี. 12, 28 (พ.ค. 2018), 316–327.
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ประการคือ 1) ศึกษาภูมิหลัง พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ ภูมิปัญญา และวิถีวัฒนธรรมของชุมชนมุสลิมในพื้นที่ริมคลองบางกอกน้อย 2) วิเคราะห์กระบวนทัศน์การปรับตัว การธำรงอัตลักษณ์ การอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญา และวิถีวัฒนธรรมความเป็นชุมชนมุสลิมริมฝั่งคลองบางกอกน้อยภายใต้เงื่อนไขและบริบททางประวัติศาสตร์ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาข้อมูลจากเอกสาร และการศึกษาภาคสนาม และนำเสนอผลการวิจัยแบบพรรณนาวิเคราะห์ ผลการวิจัยพบว่า บรรพบุรุษของชุมชนมุสลิมบางกอกน้อยคือกลุ่มคนที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.2310 เป็นชุมชนที่เคร่งครัดในศาสนาอิสลาม นิกายซุนนีห์ มีมัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะห์เป็นศูนย์กลางของชุมชน โดยธำรงอัตลักษณ์ที่สะท้อนผ่านการแต่งกายและการปฏิบัติศาสนกิจ มรดกภูมิปัญญาที่สำคัญคือ อาหารมุสลิมและการทำที่นอนยัดนุ่น มีวิถีวัฒนธรรมที่ยึดมั่นตามคำสอนของศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด และกระบวนทัศน์การปรับตัวที่สำคัญคือการปลูกฝังแนวคิดและวิถีการดำรงตนตามแนวทางของศาสนาอิสลามไว้ในระบบการศึกษา ส่งผลให้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้มแข็งสามารถดำรงตนและพื้นที่ทางสังคมได้อย่างภาคภูมิ